หน้าหลัก กลุ่มนครนายก
[รุ่น 1]
การอบรมสัมนา ข่าวสารประชาสัมพันธ์ คลังความรู้ ประชาสัมพันธ์จังหวัด เวบบอร์ดข่าวสาร ติดต่อสอบถาม

 

      เรื่อง : ป่า หลักการองค์ความรู้มิติที่ 5 แห่งศาสตร์ของพระราชา

      ผู้ส่งข่าว : ร.ต.ชัชวาลย์ สุขสุทธิ

      ประชาสัมพันธ์ เมื่อ : 20171009 เวลา : 13:35:32      มีผู้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์นี้แล้ว   598   ครั้ง


      รายละเอียด :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความสนพระราชหฤทัยและทรงตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นต้นทุนพื้นฐานของวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนโดยตรง จากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทรงพบว่าปัญหาป่าเสื่อมโทรมได้ทวีความรุนแรงจะน่าวิตกและส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเรื่องดินและน้ำเท่านั้น หากโยงใยถึงปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจ การเมือง คุณธรรม และระบบนิเวศของพื้นที่โดยรวมอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม ซึ่งมิได้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดำเนินไปอย่างโดดๆ อย่างเป็นเอกเทศ หากแต่ทรงบูรณาการงานพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดเข้าไปทำงานในพื้นที่อย่างประสานสัมพันธ์กันแนวพระราชดำริด้านป่าไม้ เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าและส่งเสริมให้มีการปลูกป่าในรูปแบบต่างๆ โดยการปลูกฝังจิตสำนึกให้ชุมชนเห็นความสำคัญของป่าไม้ ช่วยกันอนุรักษ์ ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกวิธี เพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน โดยแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่าไม้จำแนกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

1. การอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม

ด้วยทรงเล็งเห็นถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมได้แก่

- การรักษาป่าต้นน้ำ ตามหลักการขั้นพื้นฐานคือ เมื่อมีป่าก็จะมีน้ำ มีดินอันอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นของอากาศ และเกื้อกูลต่อการดำรงชีวิต โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ “ทฤษฎีป่าเปียก” โดยทรงให้หาวิธีให้น้ำจากป่าไหลผ่านลึกลงในใต้ดินเพื่อรักษาหน้าดินให้มีความชื้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแนวป้องกันไฟในระยะยาวได้อีกด้วย

- การจัดการเรื่องน้ำและการสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ โดยการกักเก็บน้ำไว้บนที่สูงให้มากที่สุด แล้วจ่ายปันลดหลั่นลงมาด้วยการควบคุมและจัดการสภาวะการไหลของน้ำให้สม่ำเสมอ ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือ Check Dam ปิดกั้นร่องน้ำในเขตต้นน้ำลำธารเพื่อแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปให้กว้างขวาง อันจะช่วยฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์ขึ้นเป็นภูเขาของป่าและน้ำในอนาคต

- การจ่ายปันน้ำ เพื่อแผ่ขยายความชุ่มชื้นแก่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเพาะปลูกของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยการทำท่อส่งและลำเหมืองในการกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ซึ่งพระองค์ทรงเน้นการใช้วัสดุในพื้นที่ที่หาง่ายและประหยัดเป็นหลัก

- การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ (สัตว์ป่าและอุทยาน) โดยจัดให้มีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าให้แพร่หลาย รวมทั้งส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงสัตว์ป่าเป็นอาชีพ และหากพื้นที่โครงการมีสภาพภูมิประเทศสวยงามอุดมสมบูรณ์ มีความเหมาะสมก็ให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานหรืออุทยานแห่งชาติต่อไป

- การรักษาป่าชายเลน โดยส่งเสริมการปลูกป่าไม้ชายเลนด้วยการอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโต อันเป็นแนวป้องกันลมและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งรวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

2. การฟื้นฟูสภาพป่าและการปลูกป่า

พระองค์มีแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูสภาพป่าและการปลูกป่าได้แก่

“ปลูกป่าในใจคน” โดยการทำความเข้าใจกับราษฎรให้รู้ถึงประโยชน์ของป่าและการอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกัน ให้ราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่า ตลอดจนรู้จักนำพืชพรรณมาใช้สอยอย่างถูกต้อง ดังเช่นโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร และโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำพูน

“ปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง” เป็นแนวคิดของการผสมผสานการอนุรักษ์ดิน น้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ ด้วยการจำแนกป่า 3 อย่าง คือ ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กิน และป่าไม้เศรษฐกิจ ซึ่งช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย

“การปลูกป่าทดแทน” โดยการการปลูกป่าทดแทนป่าที่ถูกทำลายตามไหล่เขาและในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

นอกจากนี้ ทรงชี้แนะแนวทางโดยถือหลักให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง เช่น “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” โดยการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตของต้นไม้ และควบคุมไม่ให้คนเข้าไปตัดต้นไม้หรือรบกวนเหยียบย่ำต้นไม้เล็กๆ เมื่อทิ้งไว้ช่วงระยะหนึ่ง พืช ลูกไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆ จะค่อยๆ เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ฟื้นตัวขึ้น เช่น โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

3. การพัฒนาเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

พระองค์มีพระราชดำริให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยพยายามเปลี่ยนราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายป่าให้กลายมาเป็นผู้อนุรักษ์ทรัพยากรป่าด้วยทรงตระหนักถึงการพึ่งพาของคนและป่า โดยทรงมีแนวพระราชดำริในการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปลูกป่าและจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง ทรงแนะนำให้ตั้ง “ป่าไม้หมู่บ้าน” เพื่อให้ราษฎรเพาะต้นกล้าให้แก่ราชการ เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกัน และเสริมสร้างคุณธรรมและจิตสำนึกเป็นปัจจัยอันสำคัญที่จะช่วยให้ต้นน้ำลำธารยังคงอยู่ การสร้างจิตสำนึกแก่ราษฎรตามแนวพระราชดำรินี้เป็นการดำเนินการร่วมกันที่ชาวบ้านเห็นและสัมผัสได้ ตลอดจนได้รับประโยชน์ได้จริงจากความอุดมสมบูรณ์ของป่า ดิน และน้ำ 

ขอขอบคุณ ห้องสมุดมั่นพัฒนา

ดูข้อมูลเพิ่มเติม หนังสือพระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา, มูลนิธิปิดทองหลังพระ

 

 

 

 

 

มีผู้อ่านข่าวสารของกลุ่มแล้วจำนวน       ราย