รายละเอียด : ศพก.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนพัฒนาเป็น 9101 ตามแผน หวังความยั่งยืน
กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการในการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ วางแผน และรับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิรูปภาคการเกษตรเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้แต่ละ ศพก. สะสมข้อมูลความต้องการของเกษตรกรและชุมชน ที่จะพัฒนาการเกษตรของชุมชนไว้มากพอในระดับหนึ่ง และมีความพยายามที่จะช่วยเหลือตนเองเท่าที่กำลังความสามารถจะทำได้ จากจำนวน ศพก. 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายอีกจำนวน 10,523 ศูนย์
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สมาชิก ศพก. มีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งในหลวง ร.9 พระราชทานไว้ให้มาเป็นหลักนำชัยในการพัฒนาอาชีพของตน ซึ่งแต่ละคนต่างทำกิจกรรมของตนเองตามกำลัง บางพื้นที่ก็รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางการเกษตร เน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคงในอาชีพและขยายผล หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการได้เดินตามรอยเท้าพ่อตามที่มุ่งหวัง จึงสอดคล้องกับการพัฒนาการเกษตรที่สมาชิก ศพก. ดำเนินการอยู่ อีกทั้งในส่วนของทางราชการได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธกส. และกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ สามารถวัดผลและตรวจสอบได้ ทั้งจากสมาชิกชุมชนด้วยกันเอง และหน่วยงานภายนอก
นายสมชาย กล่าวอีกว่า อาจมีหลายส่วนที่กังวลกับความรวดเร็วของการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องเข้าใจสมาชิกชุมชนด้วย ศพก.เองมีความเข้าใจและเตรียมความพร้อมกันมานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เองโดยลำพังของชุมชน รอคอยมานาน เมื่อมีการช่วยเหลือจากภาครัฐเข้ามาสนับสนุน จึงทำให้สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น พื้นที่ ต.หนองตูม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ชุมชนประสบปัญหาขยะจากเศษเปลือกกล้วยมีมากถึงวันละ 5 6 ตัน ชุมชนจึงเสนอความต้องการทำปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกกล้วย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 1.5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีชุมชนยี่ล้น อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ชุมชนประสบปัญหาเกิดจากราคาปลา และข้าวตกต่ำ ชุมชนเสนอขอทำฟาร์มชุมชน จนสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนมากกว่า 970,000 บาท
"ผมอยากให้ทุกคนมองด้วยใจเป็นธรรม การสร้างโอกาสให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะระเบิดจากข้างใน เรียนรู้ที่จะยอมรับหลักประชาธิปไตย เข้าใจกัน เอื้อเฟื้อกัน ตรวจสอบกันเอง จะสร้างสังคมเกษตรที่เข้มแข็งและมีความยั่งยืนในการพัฒนาได้จริง" นายสมชาย กล่าว