เรื่อง : จับโกหกใครว่า!บิ๊กตู่ทำ ศก.เดี้ยง หลักฐานชัด “ยิ่งอยู่ยิ่งโต”!

      ผู้ส่งข่าว : นาย ไชยยันต์ พงศะบุตร

      ประชาสัมพันธ์ เมื่อ : 20180715 เวลา : 10:15:23      มีผู้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์นี้แล้ว   559   ครั้ง




      รายละเอียด :

จับโกหกใครว่า!บิ๊กตู่ทำ ศก.เดี้ยง หลักฐานชัด “ยิ่งอยู่ยิ่งโต”!




             ตีแผ่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศ พบความจริง! บิ๊กตู่ไม่ได้ 'ห่วยแตก' ตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ระบุตัวเลขแบงก์ชาติ-สภาพัฒน์ยืนยัน ยุคบิ๊กตู่เหนือยิ่งลักษณ์ แจงสามารถสะสางมรดกหนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะที่ 'ยิ่งลักษณ์' ทิ้งไว้ได้ใน 2 ปี ด้านการท่องเที่ยวชี้ชัดต่างชาติเชื่อมั่น 'บิ๊กตู่' เข้ามาเที่ยวปีละ 30ล้านคน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 48,000 ล้านดอลลาร์ จับตาการลงทุนคุณภาพทั้ง EEC และBIG DATA จะทำให้ประเทศไทยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองและคนชนบทได้ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศจะเติบโตแบบยั่งยืน!




             ไม่น่าเชื่อว่ายุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มักจะมีข่าวออกมาในทำนองว่ารัฐบาล คสช.ทำเศรษฐกิจชาติพัง ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน นักท่องเที่ยวไม่มาไทย คนไทยมีหนี้มากขึ้น ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่หลายคน ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐได้มีการนำตัวเลขทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มาวิเคราะห์ กลับพบว่าในยุคของบิ๊กตู่เป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป อันเป็นผลมาจากการวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจไว้อย่างแข็งแรงในช่วงที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยยาว




           อีกทั้งเมื่อเปลี่ยนรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจจากหม่อมอุ๋ย มาเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อวันที่ 20 สค. 2558 ก็ได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปตรงจุดเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยจึงทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแบบยั่งยืนต่อไปด้วยนโยบายการลงทุนอย่างมีคุณภาพของรัฐบาลบิ๊กตู่

          เมื่อย้อนมาดูยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ซึ่งเน้นการเติบโตภายในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจปี 2555 ขยายตัวแบบก้าวกระโดดไปถึง 7.2% แต่ปี 2556 กลับพบว่าเศรษฐกิจขยายตัวลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 2.69 และหดตัว 0.4% ในไตรมาส 1/2557

            “โตแบบก้าวกระโดดและหดตัวรวดเร็วเปรียบเหมือนการใช้ยาแรงฉีกSteroid เข้าไป จะมีผลดีแค่ช่วงสั้น ทั้งจำนำข้าว รถคันแรก ขึ้นค่าแรง กลายเป็นการทิ้งหนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง”

          ตัวอย่างของการฉีดSteroidทำให้ปี 55 เศรษฐกิจโตถึง 7.2% ที่สัมผัสได้ชัดก็คือ 'โครงการรถคันแรก' เป็นการกระตุ้นยอดขายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มสูงถึง 1.4 ล้านคัน และ1.3 ล้านคันในปี 2556 ก่อนที่จะชะลอตัวลดลงติดต่อกัน 3 ปีต่อมาคือปี 2557-2559 ซึ่งในปี 2559 ยอดจำหน่ายรถยนต์เหลือประมาณ 7.7 แสนคันเท่านั้น






          ขณะที่ย้อนไปดูดุลการค้าของไทยในปี 2555 จะเกินดุลเพียง 30.07 ล้านดอลลาร์ ในปี 2556 เกินดุลประมาณ 39.59 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยุคยิ่งลักษณ์ ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกัน 2 ปี ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยหารายได้เข้าประเทศได้น้อยกว่าที่จ่ายออกไปให้กับต่างประเทศ

           ส่วนหนี้ครัวเรือนในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2554-2556

            “หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มจาก 6.4 ล้านล้านบาทปี 2553 เป็น 9.9 ล้านล้านบาทในปี 2556 ถ้าใครจะอ้างว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มเพราะรายได้เพิ่มขึ้นนั้นเถียงชนิดหัวชนฝาว่าไม่ใช่เรื่องจริง”




            โดยนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า ระดับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อGDPเพิ่มจากระดับ 59% ใน พ.ศ. 2553 เป็น 76.6% ในปี 2556 ซึ่งก็คือหนี้ครัวเรือนในยุคยิ่งลักษณ์ ปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่า GDPในอัตราเร่งถึงเกือบ 20% ของGDPในระยะเวลาเพียง 3 ปี

            ไม่เพียงแค่หนี้ครัวเรือนที่ถูกทิ้งเป็นมรดกให้กับรัฐบาลบิ๊กตู่ที่จะต้องแก้ไขแต่ยังมีหนี้สาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในยุคยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในโครงการประชานิยม เช่นโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท โครงการรถคันแรกที่มีจำนวนขอคืนภาษีมากกว่า 1,200,000 คัน รวมภาษีที่ขอคืนมากกว่า 90,000 ล้านบาท

             “2 ปี 8 เดือนยุคยิ่งลักษณ์ หนี้สาธารณะปรับเพิ่มถึง 1.3 ล้านล้านบาท แปลว่าคนไทยต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้นอีกถึงประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคน”

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคของยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนสัมผัสได้




              ขณะที่ยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ก็มักจะมีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่าเป็นยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ หารายได้เข้าประเทศก็ไม่เป็น นักท่องเที่ยวไม่ชอบรัฐบาลทหารจึงไม่มา การลงทุนก็แย่ รากหญ้าก็ลำบาก

             แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะจากตัวเลขชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างกำลังกระเตื้องขึ้นจะมีก็เพียง 2 ปีแรกที่รฐบาลบิ๊กตู่ต้องเผชิญอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ประกอบกับการใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Steroid ของยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงเป็นภารกิจใหญ่ที่ยุคบิ๊กตู่ต้องแก้ปัญหาให้ได้เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพต่อไป

            ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2557 ที่รัฐบาลบิ๊กตู่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจขยายตัวลดลงเหลือเพียง 0.98% แต่ในปี 2558 ขยายตัว 3.02% ปี 2559 ขยายตัว 3.28% ในปี 2560 ขยายตัว 3.91% และขยายตัว 4.8% ในไตรมาส 1 ปี 2561

             เมื่อย้อนมาดูดุลบัญชีเดินสะพัดที่วัดจากเงินไหลเข้า-ออกจากดุลการค้าและดุลบริการ (เช่นการท่องเที่ยว บริการทางการเงินและอื่นๆ) กลับพบว่ายุคบิ๊กตู่ สามารถหาเงินเข้าประเทศได้มาก โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึงประมาณ 48,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 และปี 2560 ซึ่งเป็นผลทั้งจากการเกินดุลการค้ามากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ และเกินดุลบริการมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคนต่อปี

“ใครว่ารัฐบาลปฏิวัติทำให้คนไม่อยากมาท่องเที่ยว แต่ดูยอดนักท่องเที่ยวสมัยยิ่งลักษณ์ 13 ล้านในปี 2554 เป็น 22 ล้านปี 2555และ26 ล้านปี 2556 ส่วนปี 2557 ลดลงมาเหลือ 24 ล้าน จากนั้นก็เพิ่มมากกว่า 30 ล้าน ซึ่งอาจเป็นเพราะนักท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสงบและปลอดภัย”




             ด้านสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยุคบิ๊กตู่ เริ่มปรับลดลงจากระดับประมาณ 80% ของGDPใน ปี 2554 เหลือ 77.5% ของGDPในปี 2560 ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนต่อGDP ปรับลดลงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสะสางปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ถูกทิ้งไว้ในยุคของยิ่งลักษณ์

            ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDPแล้ว ยุคยิ่งลักษณ์เป็นช่วงที่หนี้สาธารณะเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการเติบโตของGDP โดยในเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นเดือนแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDPอยู่ที่ 37.78% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDPปรับเพิ่มเป็น 43.01ในเดือนเมษายน 2557ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีการปรับเพิ่มมากกว่า5% ของGDP ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

ประเด็นนี้จึงน่าสนใจเมื่อเทียบกับรัฐบาลบิ๊กตู่!

             เพราะในยุครัฐบาลบิ๊กตู่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDPปรับลดลงจากระดับประมาณ 43% ในยุคยิ่งลักษณ์ เหลือ 41% ในเดือนเมษายน 2561หรือมีการปรับลดลงประมาณ 2% ของGDP

            “บิ๊กตู่สามารถหยุดยั้งผลการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDPในยุคยิ่งลักษณ์ได้ เป็นผลดีต่อรัฐบาลต่อไปที่จะเข้ามาสานต่อปัญหาจำนำข้าว เรื่องSTOCK ข้าวก็ถูกแก้ไข มีการระบายไปได้แล้ว มีวางโครงสร้างเศรษฐกิจที่หม่อมอุ๋ยวางไว้ทั้งด้านการเงินและการคลังของประเทศเรื่องฐานภาษีต่างๆ ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว”




             ขณะเดียวกันรัฐบาลบิ๊กตู่ ได้ใช้นโยบายประชารัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า เพื่อทำให้เกิดกำลัง โครงการซื้อจริง เช่นบัตรคนจน ที่รัฐมอบให้ แม้จะเป็นเงินเพียง 300-500 บาทแต่ก็ทำให้เกิดกำลังซื้อและยังมีนโยบายที่จะให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อสินค้าก็จะสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายได้ และยังมีโครงการธงฟ้าประชารัฐ ตามมาด้วยโครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นต้น

              อีกทั้งนโยบาย Thailand 4.0ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : EEC โครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งทางบก ทางเรือ และอากาศ รวมไปถึงโครงการ BIG DATA ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่นั้น ล้วนส่งผลดีต่อประเทศไทยในอนาคต

               โดยเฉพาะโครงการBIG DATA จะช่วยทำให้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ประสิทธิผลคุ้มค่ามากที่สุด แต่สิ่งที่จะได้ตามมาก็คือทำให้ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทได้ดี




            “เราศึกษาโครงการ EEC ที่รัฐลงทุนกว่า 1.66 ล้านล้านบาท ใน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง มีการลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีการเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งดอนเมือง สุวรรณภุมิ และอู่ตะเภา จะทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างรายได้มหาศาล”

           นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้บอกว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า โครงการ EEC จะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามที่กำหนดไว้ในแต่ละแผนงานได้หรือไม่ หากเกิดได้จริง และเสร็จสมบูรณ์ตามแผนโครงการ EEC จะยกระดับรายได้ของประเทศและนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนซึ่งจะต่างกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉีด Steroid ที่หวังเพียงผลเฉพาะหน้า แต่ทิ้งภาระหนี้สินทั้งของครัวเรือนและของประเทศในอนาคต!

 

 

 


มีผู้อ่านข่าวแล้วจำนวน       ราย