นายกฯ พอใจความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น พร้อมย้ำรัฐบาลไม่ทอดทิ้งผู้มีรายได้น้อย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจผลประเมินดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 61 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่รายงานว่า อยู่ที่ระดับ 82.2 ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 62 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 56 โดยทุกรายการปรับตัวดีขึ้นแทบทั้งสิ้น
เนื่องจากประชาชนเห็นว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้น ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มดีขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนในหลายจังหวัดก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
เช่นเดียวกับรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยเดือน ก.ค.61 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากระดับ 44.7 ในเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 45.1 เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองต่อเรื่องรายได้และการมีงานทำดีขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรกรรมเริ่มเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาด ช่วยหนุนให้เกษตรกรมีรายได้
ส่วนตัวเลขการจ้างงานของประเทศ เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของ ปีก่อน 651,970 อัตรา และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 260,500 อัตรา
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหารายได้ของประชาชนไม่เพียงต่อค่าครองชีพในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้และลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นาโนไฟแนนซ์ พักชำระหนี้เกษตรกร ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เป็นต้น
สำหรับข้อกังวลว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศนั้น ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณผลกระทบใด ๆ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ประมาท โดยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความยินดีที่ประเทศไทยมีอันดับความสามารถด้านโลจิสติกส์ในปี 2561 ดีขึ้น จากการประกาศของธนาคารโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 32 จากเดิมเมื่อปี 2559 อยู่ที่อันดับ 45 ซึ่งนับว่าดีขึ้นถึง 13 อันดับ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนแผนงานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศจนเห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และสนามบิน
ขอขอบคุณ แหล่งภาพ ข่าวสด