ผลกระทบจากพายุโซนร้อนเบบินคา ทำให้หลายพื้นที่ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เช่น ที่อำเภอไทรโยค ชาวบ้านเร่งขนทรัพย์สินขึ้นที่สูง จากการระบายน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณทหารสนธิกำลัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เร่งช่วยชาวบ้านปากแซง ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ขนย้ายทรัพย์สินไปไว้ที่สูง หลังได้รับผลกระทบ จากการระบายน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ และอิทธิพลของพายุ เบบินคา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำแควน้อย เพิ่มระดับสูงขึ้นจนเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
ทั้งนี้ นายวุฒิเดช ก้อนทองคำ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ บอกว่า อิทธิพลของพายุเบบินคา ทำให้ฝนตกมาเกือบทั้งคืน อีกทั้งปริมาณน้ำที่ระบายออกมาจากเขื่อนวันละ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำ สูงกว่า 20 เซนติเมตร ทำให้ทุกคนต้องดับไฟฟ้าและจุดเทียนตลอดทั้งคืน ซึ่งจนถึงขณะนี้น้ำท่วมมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เนื่องจากระหว่างวันที่ 23-27 เดือนนี้ เขื่อนแจ้งว่าจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 53 ล้านลูกบาศก์เมตร
ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนถึงทุกอำเภอ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม
ส่วนที่จังหวัดเชียงราย ฝนที่ตกหนักส่งผลทำให้น้ำในแม่น้ำคำที่ไหลผ่านหลายตำบลของอำเภอแม่จัน กัดเซาะตลิ่ง พนังกั้นน้ำริมฝั่งเขตหมู่บ้านม่วงคำใหม่ หมู่ 13 ตำบลแม่คำ พังทลายมาทั้งแถบหลายจุด ทำให้มวลน้ำปริมาณมากทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 300 หลัง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายสั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากยังมีฝนตกและน้ำอาจท่วมขยายวงกว้างได้อีก
ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขง อำเภอปากชม จังหวัดเลย ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำเข้าท่วมร้านอาหารที่อยู่ริมแม่น้ำ กว่า 10 แห่ง /เจ้าของร้าน ต้องขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง โดยระดับน้ำโขงที่สูงขึ้น ยังได้หนุนลำน้ำสาขาทั้ง แม่น้ำเหือง แม่น้ำเลย ลำน้ำฮวย และแม่น้ำชม ทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนที่อยู่ที่ราบลุ่มหลายหมู่บ้าน / ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ออกหนังสือด่วนสุดถึง นายอำเภอเชียงคาน และนายอำเภอปากชม เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่บ้านนาผา ตำบลกองควาย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ถูกน้ำไหลเข้าท่วมกว่า 400 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูง 1 -2 เมตร มานานกว่า 3 วันแล้ว ทำให้ชาวบ้านใช้ชีวิตด้วยความลำบาก หลายคนเก็บข้าวของไม่ทันต้องปล่อยให้จมใต้น้ำ และรอความช่วยเหลือจากทางการ / ส่วนพืชสวน ไร่ข้าวโพด และนาข้าวที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด
ขณะที่ ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้รายงานสถานการณ์น้ำว่า ภาพรวมการเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายแล้ว 9 อำเภอของจังหวัดน่าน คือ สันติสุข ปัว แม่จริม ทุ่งช้าง ท่าวังผา เมืองน่าน เชียงกลาง ภูเพียง และเวียงสา โดยปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่าน จะไหลผ่าน อ. เมืองน่าน และ อ.เวียงสา ลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด