เรื่อง : ที่ประชุม ครม. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล เสริมศักยภาพการทำงานภาครัฐ ก้าวทันยุค 4.0 เพื่อบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      ผู้ส่งข่าว : นายไชยยันต์ พงศะบุตร

      ประชาสัมพันธ์ เมื่อ : 20181005 เวลา : 7:17:17      มีผู้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์นี้แล้ว   360   ครั้ง




      รายละเอียด :
 
         ผ่านแล้ว! ร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล เสริมศักยภาพการทำงานภาครัฐ ก้าวทันยุค 4.0 เพื่อบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       วันนี้ ที่ประชุม ครม. อนุมัติและรับทราบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอ โดยเน้นยกระดับการทำงานภาครัฐ ดำเนินงานให้ก้าวทันยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสืบเนื่องจาก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกทางราชการ 2558 ที่เน้นอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชนที่รับบริการหรือติดต่อหน่วยงานราชการ

          ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจัดทำขึ้น ซึ่งหน่วยงานรัฐจะต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจหลักให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล โดยข้อมูลต้องชื่อถือได้ มีความสมบูรณ์ ทันสมัย ประชาชนสามารถสืบค้นและนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ฐานข้อมูลต้องมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มี “ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ” เพื่อรองรับและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ มีมาตรการ 3 ระยะ
  • 1. ระยะเร่งด่วน – ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พ.ย. 2561 นี้ โดยให้หน่วยงานรัฐที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ที่ต้องส่งสำเนาเอกสาร ดำเนินการเชื่อมข้อมูลกันโดยไม่ต้องทำเอ็มโอยู ให้เจ้าหน้าที่พิมพ์เอกสารจากระบบเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ลงนามรับรองโดยเจ้าหน้าที่ โดยประชาชนไม่ต้องนำสำเนาและลงนามสำเนา ส่วนการให้บริการที่เป็นตัวเงินกับประชาชนแม้กระทั่งค่าปรับ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ อนุกรรมการ ดำเนินการผ่านระบบเนชั่นอีเปย์เมนท์
  • 2. ระยะกลาง - ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2562 ให้หน่วยงานที่พัฒนาระบบสารสนเทศ หรือแอพพลิเคชั่นที่บริการประชาชน เชื่อมโยงข้อมูลจากกรมการปกครอง เพื่อดึงข้อมูลกรอกลงในแบบคำร้องอัตโนมัติ
  • 3. ระยะยาว - ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2563 ให้สำนักงาน กพร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน) (สพร.) เชื่อมโยงเอกสารมากขึ้นเพื่อให้หน่วยงานเรียกดูเอกสารและสามารถให้บริการผ่านออนไลน์ได้

           อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้หน่วยงานนั้นทำแผนเสนอคณะกรรมการเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

 

 


มีผู้อ่านข่าวแล้วจำนวน       ราย