เสียงกลองเสียงระฆัง เสียงแห่งสัญลักษณ์..."วิถีพุทธ-วิถีไทย"
กลายเป็นกระแสที่พูดถึงอย่างมาก กับกรณีที่มีลูกบ้านจากคอนโดแห่งหนึ่งร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ ก่อนจะมีการส่งหนังสือไปถึงทางวัดไทร ที่เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในย่านพระราม 3 ร้องเรียนว่าทางวัดตีระฆังส่งเสียงดังกลางดึกรบกวนผู้อาศัยคอนโด จนล่าสุดทางวัดต้องยอมลดระดับเสียงในการตีลงมาเพื่อไม่ให้รบกวนผู้อาศัยในละแวกนั้น
หลายคนถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างจริงจัง บ้างอ้างว่าวัดอยู่มาก่อนคอนโด ทนไม่ได้ก็ควรย้ายออกไป ขณะที่บางส่วนมองว่าทั้งวัดและคอนโดต้องปรับตัวเข้าหากัน ท่ามกลางโลกยุคปัจจุบันที่เสียงระฆังมีความจำเป็นน้อยลงทุกวัน
เสียงระฆังจากวัดแต่ละช่วงเวลาสื่อถึงอะไร
หลายคนรู้อยู่แล้วว่าเหตุผลในการตีระฆังช่วงเวลาต่างๆ ของวัดนั้น เพื่อให้พระสงฆ์ภายในวัดได้ทราบเวลาในการทำกิจต่างๆ หลักๆ แล้วการตีระฆังในวัดจะถูกแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาดังนี้
การตีระฆังในช่วงเวลา 04.00-05.00 น. มีขึ้นเพื่อปลุกพระให้ตื่นจากการจำวัด เพื่อลงประชุมทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้ามืด โดยถือเป็นการกำจัดกิเลส ทำตนให้เป็นเขตนาบุญ ก่อนออกบิณฑบาตในเวลารุ่งเช้า
ส่วนอีก 2 ช่วงเวลาเพื่อการสวดมนต์ทำวัตร โดยครั้งแรกจะเริ่มตีประมาณ 08.00 น. เพื่อส่งสัญญาณให้พระลงมาทำวัตรเช้า และตีอีกครั้งหนึ่งเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อส่งสัญญาณให้พระลงประชุมทำวัตรเย็นเช่นกัน
นอกจากนี้ในการตีระฆังหรือตีกลองสำหรับบางวัดยังมีมิติที่มากกว่านั้น เพราะจังหวะและทำนองของการตีในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องคาบเกี่ยวของวัฒนธรรมกับศาสนาที่มีร่วมกันมายาวนาน
ความเปลี่ยนแปลงของวัดและสังคมเมือง
ในสภาพสังคมปัจจุบัน เมืองและชนบทถูกแยกขาดออกจากกันชัดเจน เช่นเดียวกับมุมมองที่ผู้คนมีต่อวัดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง ให้ความเห็นในประเด็นนี้กับ THE STANDARD ว่า สังคมในชนบทดูจะมีความเข้าใจในวิถีธรรมเนียมปฏิบัติของวัดมากกว่าคนเมือง ซึ่งการร้องเรียนในลักษณะนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นในต่างจังหวัด เพราะบางชุมชนก็ยังอาศัยเสียงสัญญาณจากระฆังในการลุกขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษาที่ชาวบ้านจะตื่นมาทำกับข้าวยามเช้าเพื่อเตรียมตัวไปวัดและทำบุญ
ซึ่งภาพเหล่านี้กลับหาดูได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบัน ที่สภาพสังคมเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่
“วัดมีคุณค่ากับคนในสังคมเมืองในมิติที่เปลี่ยนไป และบทบาทน้อยลงไปมาก เช่น ทุกวันนี้คนมาวัดก็มองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มาเช็กอินจนกลายเป็นแลนด์มาร์ก มาเที่ยว, มากิน, ไหว้พระขอพร จนทำให้พิธีกรรมบางอย่างที่มีด้านจิตวิญญาณมันน้อยลง”