นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ราคาข้าวหอมมะลิ กข.15 ที่ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ ขายได้ราคาดีมาก ตั้งแต่ต้นฤดูกาล ราคาข้าวสดความชื้น 25-28% ณ วันที่ 23 ตุลาคม 2561 ราคาอยู่ที่ตันละ 1.4 หมื่นบาท ขณะที่ ปีที่แล้วราคาอยู่ตันละ 1.1 หมื่นบาท เพราะผลผลิตน้อยความต้องการสูง ปัจจุบัน มีโรงสีภาคกลางไปเปิดจุดแย่งซื้อในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ยิ่งดันราคาเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อชาวนาเห็นราคาแบบนี้ อย่าเพิ่งรีบเก็บเกี่ยวข้าว ต้องปล่อยให้สุกเต็มที่ เน้นทำข้าวคุณภาพ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อราคาข้าวในภาพรวมได้
ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวเตือนสมาชิกโรงสีว่า บทเรียนจากปีที่ผ่านมา "มีทั้งได้ มีทั้งเสีย" ถ้าตลาดมีความต้องการของมากจะกลายเป็นของน้อย และในทางกลับกัน ถ้าตลาดมีความต้องการน้อยของที่น้อยอยู่ก็สามารถที่จะกลายเป็นมาก ดังนั้น ขอให้ระมัดระวังตลาดข้าวสารทั้งภายในและต่างประเทศจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาด แม้ว่าผลผลิตจะเป็นปัจจัยที่ช่วยบอกทิศทางก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทั้งหมดทั้งปวง ความผันผวนของราคาตลาดยังคงมีอยู่และขึ้นอยู่กับจิตวิทยา หรือ อารมณ์ของตลาดแต่ละช่วงเวลาในภาพรวมทั้งหมดอยู่ดี
"กข.15 ได้เก็บเกี่ยวไปมากแล้วในบ้างพื้นที่ แต่ในบ้างพื้นที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการเก็บเกี่ยว และในบางพื้นที่ก็อยู่ในช่วงปลายของการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ ฝนที่ตกลงมาในช่วง 3-4 วันนี้ ทำให้ กข.15 ได้รับผลในเชิงลบ คือ ทำให้ต้นข้าวล้มและมีความชื้นสูงขึ้น แต่ในทางตรงข้ามกลับส่งผลดีต่อมะลิ 105 (ที่กำลังอยู่ในช่วงออกดอก ระยะตั้งท้อง) อย่างไรก็ดี ราคาข้าวเปลือกสดโดยรวมก็ยังคงดีอยู่ เนื่องจากตลาดมีความต้องการที่จะต้องซื้อเพื่อส่งมอบในระยะเวลาสั้นนี้ หรือ ผู้ประกอบการบ้างส่วนเริ่มซื้อเก็บสต็อกเพื่อรอการขาย"
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ข้าว กข.15 ชาวนาบางส่วนได้ตากเก็บไว้กินและเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลต่อไปแล้ว ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป และหลังวันที่ 8 พ.ย. ก็จะเริ่มมีผลผลิตออกมามากขึ้น ทั้งทางภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ในส่วนของข้าวหอมมะลิที่กระทบภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตติดต่อนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม และขอนแก่น (บางอำเภอ) ข้าวหอมมะลิที่กระทบภัยแล้งนี้ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่ได้รับนำ้ฝนช่วงระยะ 3-4 วันที่ผ่านมา ก็พอที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง และ 2) คือ อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมานานแล้วพอสมควร ส่วนนี้ก็จะได้รับความเสียหายถึงขั้นเก็บเกี่ยวไม่ได้เลย หรือ เก็บเกี่ยวได้ไม่คุ้มกับค่าจ้างรถเกี่ยว
ทั้งนี้ รัฐควรเขามาช่วยเหลือในพื้นที่ ๆ ประสบภัยแล้ง ส่วนในเรื่องของค่าเก็บเกี่ยวก็จะช่วยให้เกษตรกรพอได้เก็บเกี่ยวบ้าง ซึ่งก็จะดีกว่าบางส่วนปล่อยทิ้งหรือต้องใช้คนเก็บเกี่ยว เพราะจะเก็บเกี่ยวไม่ทัน ทำให้ข้าวแก่จัดเสียหายได้ และยิ่งถ้าได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ ก็จะยิ่งทำให้เสียหายมากขึ้นไปอีก ในส่วนของพื้นจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ก็จะมีผลผลิตเป็นปกติ บางพื้นที่ก็จะมีผลผลิตดีกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา การพยากรณ์ในเรื่องของราคา ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ที่แน่ ๆ ราคาปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อยู่ที่มุมมองของผู้ประกอบการโรงสีและผู้ส่งออกว่า สามารถทำตลาดได้มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ซื้อเก็บเพื่อบริโภคภายใน ว่า จะมีกำลังในการเก็บสต๊อกมากน้อยเพียงใด ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการแต่ละคนจะต้องนำไปวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดข้าวหอมมะลินั้น มี 2 ตัวแปร ที่ส่งผลกระทบถึงราคาในช่วงของข้าวใหม่ ต้นฤดูนั้นตลาดส่งออกจะเป็นตัวแปร และต่อมาตัวแปรที่ 2 หลังจากนั้น คือ ตลาดบริโภคภายในประเทศ ที่ผู้ประกอบการจะต้องทำหน้าที่เก็บสต็อกเป็นข้าวเก่า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้เวลา "เป็นเพียงข้อมูลและข้อคิดเห็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ต่างคนต่างมองคาดการณ์กันเอง"
เช่นเดียวกับ นางสาวธันยนันท์ อริยขจรนนท์ นายกสมาคมค้าข้าวไทย (หยง) กล่าวถึงสถานการณ์ราคา ว่า แบบนี้จะช่วยทำให้รัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่าย อาจจะเข้าโครงการจำนำยุ้งฉางน้อย ส่วนการซื้อขายข้าวผ่านหยงปีนี้ยังทรง เนื่องจากมีโรงสีปิดกิจการไปหลายโรง และมีบางโรงสีต้องการขายข้าวตรงกันมากขึ้น หรือ ใช้หยงในเครือ เพราะการซื้อขายผ่านหยงบางรายอาจจะคิดว่าไปตัดผลกำไร แต่ความจริงแล้ว การซื้อขายผ่านหยงมีข้อดี คือ จะมีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้ตามที่ตกลงกันก่อนเสมอหลังจากปิดบัญชีจากผู้ส่งออกแล้ว ส่วนที่เหลือจึงปิดให้โรงสี