เรื่อง : ความจริงราคายางพาราไทย!!!!!!

      ผู้ส่งข่าว : นายไชยยันต์ พงศะบุตร

      ประชาสัมพันธ์ เมื่อ : 20181120 เวลา : 9:09:18      มีผู้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์นี้แล้ว   356   ครั้ง




      รายละเอียด :

ความจริงราคายางพาราไทย!!!!!!

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่ได้มีการสนับสนุนให้ปลูกยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนับล้านไร่มาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาโดยไม่มีการวางแผนการผลิต (Agriculture Production Plan) ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของตลาดนั้น ได้ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตยางพาราปริมาณมากที่สุดในโลก รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก


ปัจจุบันราคายางพาราในประเทศไทยและในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเป็นระยะ ๆ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ ประสบความเดือดร้อนมีรายได้ไม่เพียงพอ จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ เหมือนเช่นในอดีต ที่ราคายางพาราตกต่ำ

สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการศึกษาปัญหาภาวะวิกฤตราคายางพารา และแนวทางแก้ไขปัญหา ราคายางพาราตกต่ำ จากข้อมูลและข้อเท็จจริงจากพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรวบรวมข้อมูล จากองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) และหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้พบข้อเท็จจริง คือ

  • ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางมากที่สุดในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เวียดนามและอินเดีย โดยในปี 2560 ไทยมีพื้นที่กรีดยาง 20.32 ล้านไร่
  • ประเทศไทยมีผลผลิตยางมากที่สุดในโลกจำนวน 4.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับการผลิตยางธรรมชาติของทั้ง 6 ประเทศรายใหญ่
  • ราคายางพาราปัจจุบันอยู่ในภาวะขาลง โดยราคายางแท่ง ปี 2551-2560 หดตัวลงเฉลี่ยร้อยละ 4.12 ราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ปี 2551-2560 หดตัวลงเฉลี่ยร้อยละ 2.86%
  • ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของประเทศไทย ปี 2550 – 2559 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเป็นระยะๆ โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลง โดยปัจจุบันมีต้นทุนการผลิต สูงขึ้นถึงร้อยละ 6.94
  • สถานการณ์ราคายางพาราเปรียบเทียบกับผลผลิตทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2540 – ปัจจุบัน จะเห็นว่าปี 2557 - 2561 ปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะๆ โดยปัจจุบันมีปริมาณผลผลิตยางมากที่สุดจำนวน 4.50 ล้านตันมากกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่ราคายางพาราในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับปริมาณ ยางพาราที่สูงขึ้นนั้น ในช่วงปี 2557 – 2561 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ก็มีราคาลดต่ำลง ทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์ มากกว่ายางพารา
  • เกิดความขัดแย้งทางการค้า (Trade War) ระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ จีน และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา จึงทำให้การส่งออกยางพาราจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนหรือประเทศลูกค้ารายสำคัญลดลง ส่งผลกระทบ ต่อราคายางในประเทศไทยลดลงด้วย


การแก้ไขปัญหาราคายางพาราในประเทศไทยให้ยั่งยืนและไม่มีผลกระทบต่อระบบการคลังของประเทศ ก็คือการลดการพึ่งพาการส่งออก เพราะราคายางพาราในต่างประเทศ อยู่ในภาวะลดลงทุกตลาด และราคายางพาราซื้อขายในประเทศ ก็ยังอิงกับราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า (future trading) ในต่างประเทศด้วย

ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นพร้อมกับการปรับสมดุลลดปริมาณ (supply) ยางพาราลงด้วย จึงจะทำให้ราคายางพาราในประเทศมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหายางพาราต่อคณะกรรมการยางพาราและคณะกรรมการนโยบายยางพาราธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วนเพื่อทุเลาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาวพารา คือจัดทำโครงการเร่งด่วนพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นรายครอบครัวเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่างราคายางพาราตกต่ำ
ต้องลดปริมาณการผลิตยางพาราโดยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรืออายุ 15 ปีที่มีต้นโทรมให้น้ำยางน้อยไม่คุ้มค่าเพื่อไปปลูกพืชอื่น ๆ

รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยาง โดยอาจพิจารณาให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบัน เพื่อเร่งการตัดสินใจลดปริมาณการผลิตยาง โดยทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิต ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ หรือลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพารา ให้สอดรับกับอุปทานไม้ยางพารา ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงเชิญชวน และเปิดรับสมัคร เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยางช่วงราคาตกต่ำ หรือหยุดกรีดยาง(tapping holiday)เป็นเวลา 1-2 เดือน ซึ่งจะทำให้ยางพาราลดลงจากตลาดไปในทันทีจำนวน 5 แสนตันต่อเดือน เพื่อเป็นการกระตุ้น (short price)ราคายางพาราในตลาด

หากมีเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวและสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่าร้อยละ 80 ของเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ ก็จะได้ให้ กยท.ไปจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพ ชาวสวนยาง ระหว่างโครงการ เพื่อให้มีรายได้มาชดเชยช่วงหยุดกรีดยางต่อไป

ขอความร่วมมือบริษัทหรือภาคเอกชนที่มีธุรกิจแปรรูป หรือโรงงานอุตสาหกรรมผลิตล้อยางส่งขายในต่างประเทศ และหรือภายในประเทศ เพื่อขอให้เข้าร่วมรณรงค์เชิญชวน ให้ประชาชนเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ ในช่วงเทศกาล ปีใหม่เพื่อความปลอดภัยทางถนนในราคาถูก โดยให้ประชาชน ได้สิทธิทำใบเสร็จซื้อยางล้อรถยนต์ ไปลดภาษีเงินได้ บุคคลหรือนิติบุคคลประจำปี ในขณะที่บริษัทเอกชน หรือโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ ผลิตล้อรถยนต์ราคาถูก ก็จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีเช่นกัน

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพ : PR Ubon - ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี

 

 

 


มีผู้อ่านข่าวแล้วจำนวน       ราย