เรื่อง : ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑

      ผู้ส่งข่าว : จปร.FM 89.75 MHz.

      ประชาสัมพันธ์ เมื่อ : 20181208 เวลา : 10:26:24      มีผู้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์นี้แล้ว   648   ครั้ง




      รายละเอียด :
ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑
วันนี้ (๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑)  เวลา  ๑๓.๓๐ น.  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุพัฒน์  วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นางสาวบุษฎี  สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สมภพ  ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑ ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช อาคารหอสมุดศิริราช ชั้น ๔ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  
 
 
 
สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”  ประจำปี ๒๕๖๑ ได้แก่
๑. นายกัญจน์พัฒณ์ เตมหิวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒. นายจารุพงษ์ แสงบุญมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
๓. นายปุญญภัทร มาประโพธิ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 
๔. นางสาวพิชชาทร ศุภกิจจานุสันติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
๕. นายสรวงสรรค์ สุภาพผล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 
 
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี  ๒๕๖๑ ทั้งสิ้น ๒๑ ราย จาก ๙ สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ ๕ ราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑
 
 
 
 
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ ๒/ ๒๕๕๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการดำเนินการ  และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย  ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ  หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา ๑ ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ  และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
 
 
 


 


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑


นายกัญจน์พัฒณ์ เตมหิวงศ์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

   
 นายกัญจน์พัฒณ์ เตมหิวงศ์ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาเครื่องมืออัติโนมัติสำหรับคัดกรองโรคต้อหินโดยอาศัยอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริง (Virtual reality headset) และระบบคอมพิวเตอร์สำหรับวิเคราะห์ฐานข้อมูลของผู้ป่วยต้อหิน ซึ่งจะเป็นรากฐานของระบบคัดกรองโรคตาแบบอัตโนมัติในอนาคต ต้อหินเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการตาบอดที่ไม่สามารถรักษาได้ และเนื่องด้วยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาระจากต้อหินซึ่งเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสำคัญของต้อหินคือผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการจนกระทั่งโรคได้ดำเนินถึงระยะสุดท้าย การตรวจพบต้อหินจึงมักล่าช้า ทำให้ไม่สามารถป้องกันการเกิดตาบอดจากต้อหินได้ทัน อีกทั้งปัจจุบันเครื่องมือคัดกรองโรคต้อหินยังมีราคาสูง การพัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่มีราคาเหมาะสม สามารถกระจายไปสู่โรงพยาบาลชุมชนได้อย่างทั่วถึง จะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยตาบอดและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วยต้อหินได้ ประเด็นที่นายกัญจน์พัฒณ์สนใจศึกษาประกอบด้วย การพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดลานสายตารูปแบบใหม่ ระบบการจัดเก็บข้อมูลทางจักษุวิทยา และแผนการตรวจคัดกรองต้อหินในประเทศสหรัฐอเมริกา
     โดย นายกัญจน์พัฒณ์ เตมหิวงศ์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ได้รางวัลชนะเลิศในการแข่งขันตอบปัญหาทางการแพทย์ระดับนานาชาติ (GUMC) ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๐ ได้รางวัลเหรียญเงินในการแข่งขันตอบปัญหาทางการแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นหัวหน้าผู้ดูแลระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเขียนรายงานผู้ป่วย (CUMEDWORD) ของนิสิตแพทย์ ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้ากลุ่ม ขณะผ่านการเรียนในแต่ละภาควิชา เป็นอาสาสมัครออกหน่วยบริการชุมชนและให้คำแนะนำด้านสุขภาพพื้นฐาน จังหวัดนครปฐม
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๙  ได้คะแนนสูงสุดในการสอบกลางภาคในภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นวิทยากรอาสาสมัครทบทวนความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานก่อนสอบให้แก่เพื่อนนิสิตแพทย์
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็นพิธีกรงานให้ความรู้ในหัวข้อ การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ ได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขันวงดนตรีไทย “จามจุรีคีตประเลง” เนื่องในวันศิลปวัฒนธรรม โดยเป็นนักร้องนำ
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ได้รางวัลคะแนนสูงสุดในการสอบเนื้อหารายวิชากายวิภาคศาสตร์ของระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นพิธีกรงานพิธีพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ณ วัดธาตุทอง เป็นวิทยากรอาสาสมัครโครงการทบทวนความรู้ฟิสิกส์ ณ Pakuranga College ประเทศนิวซีแลนด์ 
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ได้รางวัลเกียรติคุณประกาศในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑
 
นายจารุพงษ์ แสงบุญมี
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
นายจารุพงษ์  แสงบุญมี เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจในเรื่อง บทบาทของโปรตีน cyclins และ cyclin dependent kinases ในสภาวะกลูโคสสูงในโรคเบาหวานเพื่อศึกษาแนวทางการใช้เป็นโมเลกุลเป้าหมายในการรักษามะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยสูงที่สุดในโลก และประมาณร้อยละ  ๓๐ – ๕๐ ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภาวะความผิดปกติของเมแทบอลิสมของกลูโคสหรือเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย จากการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการโดยใช้เซ็ลล์เพาะเลี้ยงมะเร็งท่อน้ำดีพบว่า สภาวะที่น้ำตาลกลูโคสสูงผิดปกติสามารถทำให้เซ็ลล์มะเร็งท่อน้ำดีมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่การเจริญเติบโต และความสามารถในการแพร่ลุกลาม โดยผ่านกลไกการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องหลายชนิด หนึ่งในกลุ่มนั้นคือ Cyclins และ Cyclin Dependent Kinases (CDKs) ซึ่งการศึกษาในมะเร็ง   อื่นๆ พบว่า เป็นกลุ่มโปรตีนที่มีบทบาทหลากหลายและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นโมเลกุลเป้าหมายในการรักษามะเร็ง ดังนั้นบทบาทของโปรตีนกลุ่มนี้จึงเป็นที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนาเป็นเป้าหมายในการรักษามะเร็งท่อน้ำดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดผิดปกติหรือมีโรคเบาหวานร่วมด้วย
     โดย นายจารุพงษ์ แสงบุญมี มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ 
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ได้รับทุนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปแลกเปลี่ยน ณ National Cheng Kung University, School of Medicine, Taiwan  ได้รางวัลชนะเลิศผลงานวิจัยกลุ่มนักศึกษาแพทย์ ผลงานวิจัยเรื่อง “สัดส่วนของผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะเครียดและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” ในการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๖๑ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๐ เป็นหัวหน้าฝ่ายประเมินผลกิจกรรมการแข่งขันกีฬาเข็มสัมพันธ์ ครั้งที่ ๒๙ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นบรรณาธิการหนังสือสรุปความรู้ “สูติ-นรีเวช สำหรับนักศึกษาแพทย์” โดย สโมสรนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ได้รับทุนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปแลกเปลี่ยน ณ Seidman Cancer Center, Case Western Reserve University, Cleveland, OH, USA ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น สาขา วิทยาศาสตร์สุขภาพ จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง ผลของระดับกลูโคสในสภาวะเบาหวานต่อความรุนแรงของมะเร็งท่อน้ำดี
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ได้รับทุนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปศึกษาวิจัย ณ Baylor College of Medicine, Houston, TX, USA
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เป็นประธานดำเนินงานค่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์วิจัยและจริยธรรมการวิจัย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ ศ. ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  เป็นตัวแทนนักวิจัยรุ่นเยาว์ของประเทศไทย เข้าร่วมประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา  ครั้งที่ ๖๓ สาขาเคมี ณ เมืองลินเดา ประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี


 
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑
 
 
 
นายปุญญภัทร มาประโพธิ์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
 
นายปุญญภัทร มาประโพธิ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจเทคนิคการวิเคราะห์โดยเมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของสารชีวโมเลกุลและใช้ในการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคนิ่วในไต และการเกิดซ้ำในประชากรไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย และเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตเริ่มเสื่อมลง และส่งผลเสียต่อสุขสภาวะตามมา โดยเน้นค้นหาและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางการแพทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่ๆ แนวทางการป้องกัน และทำนายการเกิดนิ่วในไตซ้ำในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย และพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศไทย สำหรับประเด็นอื่นที่นายปุญญภัทร สนใจจะไปศึกษา ประกอบด้วย ข้อมูลการศึกษาวิจัยทางด้าน Metabolomics และ Big data analysis ปัจจัยด้านงบประมาณ แนวทางการพัฒนาต่อเพื่อนำไปใช้จริงในการรักษาผู้ป่วย
     
     โดย นายปุญญภัทร มาประโพธิ์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ 
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการ “สร้างความเชื่อมั่น จุดพลังศรัทธา พัฒนานิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย” (TRUST, for all humanity and mankind) จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ ร่วมกับแพทยสภา ได้รับโล่เกียรติคุณ ในฐานะนักศึกษาแพทย์ที่ทำคุณประโยชน์แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และทุนรางวัล “ดร.วรพล-ท.พญ.วโรชา โสคติยานุรักษ์” ในวันไหว้ครู ปีการศึกษา ๒๕๖๑
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๐ นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ได้รับรางวัล Innovative teaching award ในงานมหกรรมคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อเรื่อง การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ “การสัมผัสประสบการณ์ตรงทางคลินิกของนักศึกษาแพทย์ชั้นพรีคลินิก ดำเนินการโดย นักศึกษาแพทย์รุ่นพี่" เทียบกับนักศึกษาแพทย์ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ” โดยทีมนักศึกษาผู้จัดโครงการพาน้องขึ้นวอร์ด นำเสนอผลงาน Poster presentation เรื่อง “Changes of VARK learning style of preclinical students from the 1st to 2nd preclinical years” และ Oral presentation เรื่อง “Comparisons of attitudes and behavior toward study between students participating a project entitled “Direct experience in early clinical exposure of preclinical students conducted by senior clinical students’ and non-participating students”  ในการประชุมวิชาการ ANZAPHE ณ เมือง Adelaide ประเทศ Australia
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพยนตร์สั้น ร่วมกับคณะนักศึกษาแพทย์ศิริราช ในโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นเพื่อจรรยาบรรณนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่ยั่งยืน Thailand Medical student’s code conduct  ในโอกาสครบรอบวันสถาปนา ๔๘ ปี แพทยสภา ร่วมออกหน่วยบริการชุมชน ค่ายมหิดลร่วมใจสานสายใยสู่ชุมชน ณ จ.สุพรรณบุรี
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ประธานชุมนุมพุทธธรรมศิริราช (ฝ่ายนักศึกษา)
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็นรองหัวหน้านักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๒ เป็นหัวหน้าฝ่ายดูแลพระสงฆ์ งานพระราชทานเพลิงอาจารย์ใหญ่  เป็นประธานเชียร์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เป็นประธานเชียร์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

 
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑
 
 
 
นางสาวพิชชาทร ศุภกิจจานุสันติ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
 
 
นางสาวพิชชาทร ศุภกิจจานุสันติ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่องการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานโดยการวิเคราะห์เสียงผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก การคัดกรองเบาหวานเพื่อปรับพฤติกรรม และให้การรักษาสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากตัวโรคได้ โดยหลายการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลต่อเส้นเสียงในการสร้างลักษณะคลื่นเสียงที่ต่างออกไป  ดังนั้นจึงสนใจในการสร้างเครื่องมือคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยการวิเคราะห์เสียงผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ขึ้น และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นแอปพลิเคชั่นมือถือให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรที่กลัวเข็ม และสามารถเข้าถึงพื้นที่ขาดแคลนบุคลากร หรือเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับวิเคราะห์ระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศไทยและนานาชาติ
     โดย นางสาวพิชชาทร ศุภกิจจานุสันติ์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ 
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๑ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์แลกเปลี่ยนเชิงคลินิก ณ Children National  Medical Center, George Washington University, Washington DC, USA   เป็นผู้ร่วมเขียนบทความเรื่อง “Frequent premature atrial complexes as a predictor of atrial fibrillation: Systematic review and meta-analysis” ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Electrocardiology 2018
  • ปีการศึกษา ๒๕๖๐ เป็นรองประธานชมรมนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และอาสาสมัครประจำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลศรีละกอ อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๙ เป็นประธานโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์เพื่อการค้นคว้าวิจัย โดยสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย ชมรมวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ได้รับโล่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอเรื่องเด่นจากการเรียนรู้ภาคสนาม รายวิชาเวชศาสตร์ชุมชน เป็นประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์โครงการแพทยศาสตร์ศึกษา สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ได้รับคะแนนสูงสุดในการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์เพื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานวิจัย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เป็นประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๑ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน รายการ World Robocup 2011 ประเภท Robocup Junior Rescue Robot  ณ เมืองอิสตันบลู ประเทศตุรกี
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เป็นตัวแทนศูนย์ส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในการแข่งขันคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑
 
 
 
นายสรวงสรรค์ สุภาพผล
  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
นายสรวงสรรค์ สุภาพผล เป็นนิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ ๖ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีความสนใจด้านการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลเพื่อใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก  ซึ่งเป็นมะเร็งที่ติดอันดับ ๑ ใน ๓ ของมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลกและประเทศไทย  ยิ่งเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจายการรักษาให้ผลไม่ดีนัก  ทำให้อัตราการตายค่อนข้างสูงมาก  สาเหตุสำคัญคือมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงมาก  ดังนั้นการจะรักษามะเร็งให้หายขาดจำเป็นต้องกำจัดความหลากหลายทางพันธุกรรมเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมด  วัคซีนนี้ใช้หลักการการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้แข็งแรงก่อนที่จะสามารถกลับไปทำลายความหลากหลายของมะเร็งได้เองทั้งหมด  สำหรับประเด็นที่นายสรวงสรรค์ตั้งใจจะไปศึกษาได้แก่ การทำนายสารที่จะเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  การทดสอบการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน  ตลอดไปจนถึงการนำสารเหล่านี้มาผลิตเป็นวัคซีน
โดย นายสรวงสรรค์ สุภาพผล มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
 
ด้านการศึกษา
  • เป็นนิสิตโครงการเพชรชมพู  คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปีการศึกษา ๒๕๕๘ – ปัจจุบัน
  • เป็นวิทยากรโครงการทบทวนความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานให้แก่นิสิตแพทย์ที่ไม่ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นตอนที่ ๑  ปีการศึกษา ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐
ด้านการวิจัย
  • เป็นผู้วิจัยร่วมโครงการ “สารสกัดกระชายดำเพื่อการยืดอายุเซ็ลล์” ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองในการประกวดนวัตกรรมนานาชาติปี ๒๕๖๑ ครั้งที่ ๔๖ (46th International Exhibition of Inventions Geneva) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ด้านจิตอาสา
  • เป็นอาสาสมัครปฏิบัติงานด้านปฐมพยาบาล ในกิจกรรมถวายสักการะ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๐
  • อยู่ฝ่ายการพยาบาล งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ ๗๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
  • เป็นรองประธาน ชมรมเทเบิลเทนนิส ฝ่ายกีฬา  องค์การบริหารสโมสรนิสิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปีการศึกษา ๒๕๕๘
  • เป็นเหรัญญิก ชมรมเทเบิลเทนนิส ฝ่ายกีฬา องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ปีการศึกษา ๒๕๕๙
ด้านกีฬา
  • เป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิส ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑
  • เป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิส ผู้แทนสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในการแข่งขันกีฬาเข็มสัมพันธ์  ปีการศึกษา ๒๕๕๖ – ๒๕๕๘ และ ๒๕๖๐ ได้รับรางวัลรวม ๕ เหรียญทอง
  • เป็นกัปตันทีมและนักกีฬาฟุตบอล ผู้แทนสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการแข่งขันกีฬาเข็มสัมพันธ์ ปีการศึกษา ๒๕๕๗– ๒๕๕๘ และ ๒๕๖๐ ได้รับรางวัลรวม ๒ เหรียญทองแดง

 

 

 


มีผู้อ่านข่าวแล้วจำนวน       ราย