คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
เรื่อง : จับเท็จ "นักเลือกตั้ง"
.
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยที่เราเฝ้ารอมานานก็จะเกิดขึ้น โดยส่วนตัวผมคิดว่า การเลือกตั้งเที่ยวนี้ประกอบด้วยตัวเลือกพรรคการเมือง 4 ประเภท
1.กลุ่มพรรคไทยรักไทยและพรรคลูก แน่นอนว่า ชื่อ "ไทยรักไทย" จะถูกยุบพรรคไปแล้ว แต่การสานต่อวิธีคิดและคณะทำงานก็ยังคงอยู่ภายใต้ชื่อพรรคใหม่ หรืออาจจะมีแนวคิดหลาย ๆ เรื่องที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ เพื่อธรรม เพื่อชาติ เสรีรวมไทย ประชาธิปไตยใหม่ ประชาภิวัฒน์ พลังพลเมืองไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ พลังปวงชนไทย เพื่อนไทย พลังแผ่นดินธรรม
สำหรับกลุ่มนี้ พวกเขาอาจจะเรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ก็ต้องขึ้นกับว่า พวกเขามีเสรีภาพในการคิดเห็นจัดทำนโยบายของตนเองได้มากน้อยเพียงไหน และต้องฟังคำสั่งใครบ้าง ซึ่งแต่ละพรรคก็มีความเป็นประชาธิไตยในทางแสดงความคิดเห็นไม่เท่ากัน ขึ้นกับว่า ต้องฟัง "นายใหญ่" มากน้อยเพียงใด พรรคไหนฟังนายใหญ่มากก็ประชาธิปไตยน้อยหน่อย พรรคไหนฟังบ้างไม่ฟังบ้างก็ประชาธิปไตยมากหน่อย
2.ประชาธิปัตย์ หลาย ๆ คนเรียกพรรคนี้ว่า พรรคเก่าแก่ บางคนก็แอบบ่น ๆ ว่า อาจจะพูดเก่ง แต่เวลาทำงานจริงก็ขึ้นกับว่า ใครจะมองว่าพวกเขาทำงานได้มากน้อยแค่ไหน
3.พลังประชารัฐและพรรคที่สนับสนุน อาทิ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังชล ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะมีแต้มต่อในฐานะทำงานมาต่อเนื่อง และยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดกติกาทั้งในการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันก็เป็นคนแต่งตั้งผู้คุมกติกา และตัวเองก็มาเป็นผู้เล่นด้วยตัวเอง หลาย ๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มที่ 1 นิยมเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการ
4.ตัววิ่งที่พร้อมจะเป็นรัฐบาลกับใครก็ได้ อาทิ พลังท้องถิ่นไท ภูมิใจไทย ชาติไทยฯ ชาติพัฒนา
แต่ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม สิ่งที่เราเห็นชัดเจนในครั้งนี้ คือ การหาเสียงที่ดุเดือดรุนแรง แต่ไม่ลึกซึ้ง (เนื่องจากยังไม่เห็นพรรคไหนเอานโยบายออกมากางแล้วอธิบายรายละเอียดสำคัญ เช่น จะดำเนินนโยบายให้เป็นจริงได้อย่างไร จะเอางบประมาณมาจากที่ไหน ฯลฯ) แต่เกือบทุกพรรคจะเน้นการออกคำขวัญเพราะ ๆ กล่าวอ้างว่า ตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นมืออาชีพ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดในช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่นิยมพุ่งเป้ามาที่ห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ขออนุญาตนำข้อมูลสถิติมาแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่หลาย ๆ พรรคนิยมพูดกัน อาทิ คนไทยยากจนลง การกระจายรายได้แย่ลง เป็นหนี้มากขึ้น ฯลฯ วาทกรรมเหล่านั้น มันมีข้อเท็จจริงอย่างไร และสถานการณ์มันเลวร้ายที่สุดในช่วงใครเป็นหัวหน้ารัฐบาล รวมทั้งคนที่กล่าวว่า ตนเองเป็นมืออาชีพ เอาเข้าจริง ๆ ตอนที่ตนเองเข้ามาบริหาร เขาสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือ เมื่อมีอำนาจ พวกเขากลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีกต่างหาก ขออนุญาตใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจออกไปเลือกตั้งของพวกเราคนไทยนะครับ
ประเด็นที่ 1 คนไทยยากจนลงในช่วงที่ผ่านมา
ประเทศไทยมีการตั้งค่าเส้นขีดความยากจน (Poverty Line) และมีการปรับค่านี้เกือบทุกปีครับ ค่าเส้นขีดความยากจน คือ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคขั้นตํ่าที่คนไทย 1 คน ต้องมีเพื่อดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน ดังนั้น ใครก็ตามที่มีความสามารถที่จะมีรายจ่ายในการอุปโภคบริโภคได้ไม่เกินค่านี้ ก็ถือว่า คนคนนี้เป็นคนยากจน ปี 2000 ก่อนการเข้ามาบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนไทยมีชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนสูงถึง 42.33% และลดลงเป็นประมาณ 21.8% ในช่วงปลายของรัฐบาลไทยรักไทย ตัวเลขนี้ลดลงตามลำดับครับ อยู่ที่ 13.2% ในสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ ลดลงเป็น 11% ในสมัยนายกฯยิ่งลักษณ์ และลดลงเหลือเพียง 7.8% ในสมัยของนายกฯประยุทธ์ นั่นแสดงให้เห็นว่า ที่พรรคไหนหาเสียงว่า 5 ปีที่ผ่านมา คนจนในประเทศไทยมากขึ้น ... พรรคนั้นน่าจะให้ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือได้ครับ
ประเด็นที่ 2 การกระจายรายได้ของคนไทยแย่ลง
หนึ่งในเครื่องมือที่ทั่วโลกนิยมใช้วัดการกระจายรายได้ ว่า มีความเหลื่อมลํ้ากันหรือไม่ มีการกระจายตัวดีหรือไม่ดีเพียงใด คือ ค่าสัมประสิทธิ์ GINI โดยค่า GINI ยิ่งตํ่าแสดงให้เห็นว่า การกระจายรายได้มีแนวโน้มที่จะมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลในกราฟ เราจะเห็นได้ว่า ค่า GINI ของไทยเราลดลงอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 0.522 ก่อนรัฐบาลไทยรักไทย ลงมาอยู่ที่ระดับ 0.493 ในช่วงปลายของนายกฯทักษิณ
นั่นแปลว่า เรามีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น ค่า GINI เด้งขึ้นไปสูงที่ระดับ 0.514 ในสมัยของนายกฯสุรยุทธ์ แต่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ คือ ค่าสัมประสิทธิ์ GINI ลดลงตํ่าที่สุดที่ระดับ 0.445 ในช่วงของนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงจะปรับตัวสูงขึ้นบ้างในปี 2017 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าอดีตนายกรัฐมนตรีท่านอื่น ๆ อยู่ดี
ประเด็นที่ 3 ที่ผ่านมาคนจนยิ่งจนลง ในขณะที่คนรวยยิ่งรวยขึ้น
อีกหนึ่งเครื่องมือที่นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์นิยมใช้ในการพิจารณาเรื่องของความเหลื่อมลํ้าในการกระจายรายได้ คือ การเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ของประชากร โดยแบ่งประชากรของไทยตามระดับรายได้ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 20% ที่มีรายได้สูงที่สุด (คนรวยที่สุด) ลงไปเรื่อย ๆ ทีละ 20% จนกระทั่งถึงกลุ่ม 20% ของประชากรไทยที่มีรายได้ตํ่าที่สุด (คนจนที่สุด) แล้วเปรียบเทียบดูว่า คนรวยที่สุด 20% แรก กับคนจนที่สุด 20% สุดท้าย มีรายได้ห่างกันกี่เท่า
ในสมัยของคุณทักษิณ คนที่รวยที่สุดรวยกว่าคนที่จนที่สุดประมาณ 12.22 เท่า ตัวเลขนี้ลดลงเป็น 11.81 เท่า ในสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ และเด้งกลับไปสูงขึ้นอีกครั้งในสมัยของนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ระดับ 12.64 เท่า และกลับลดลงมาอีกครั้งในสมัยของนายกฯประยุทธ์ ที่ทำให้คนรวยที่สุด 20% มีรายได้สูงกว่าคนที่จนที่สุด 20% อยู่ 10.16 เท่า ดังนั้น ใครที่หาเสียงว่า ช่วงที่ผ่านมา คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง ถ้าไม่กล่าวเท็จก็อาจจะมีข้อมูลที่ผิด
จากข้อ 2 และ 3 ขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นนะครับว่า การกระจายรายได้ของไทยที่มีความเหลื่อมลํ้ามีสาเหตุมาจากอะไร เพราะเป็นเรื่องยาว และเคยวิเคราะห์ไว้แล้ว ไปตามอ่านกันได้ที่ :
ทำไม่เศรษฐกิจโตตั้ง 4.8% แล้วเรารู้สึกว่า "ไม่ใช่อ่ะ"ประเด็นที่ 4 ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพของคนได้
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการวัดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ การพิจารณาจากตัวเลขผลิตภาพของแรงงานไทย เราพบว่า มูลค่าผลผลิตที่คนงานไทย 1 คน ทำงานในระยะเวลา 1 ปี โดยเฉลี่ยแล้วมันเพิ่มขึ้นโดยตลอดนะครับ แน่นอนว่า พุ่งขึ้นมากที่สุดในปี 2002 จากเฉลี่ยที่ประมาณ 95,738 บาท/คน/ปีขึ้นไป เป็น 174,512 บาท/คน/ปี เหตุผลหลัก คือ ในรัฐบาลชุดนั้นมีการปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายค่าจ้างขั้นตํ่า 300 บาท/วัน เท่ากันทั่วประเทศ แต่หลังจากนั้นตัวเลขผลิตภาพของคนไทยก็ปรับสูงขึ้นมาโดยตลอดนะครับจนในปี 2017 คน งานไทย 1 คน สร้างมูลค่าการผลิตได้ 272,477 บาท/คน/ปี แน่นอนว่า เราทุกคนอยากเห็นตัวเลขพุ่งสูงขึ้นกว่านี้ครับ
ประเด็นที่ 5 คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น
หากพิจารณาจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ ตัวเลขจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ขยายตัวมากที่สุดจากช่วงปลายของคุณทักษิณเข้าสู่ช่วงของนายกฯสุรยุทธ์ และขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยของคุณอภิสิทธิ์ แต่เราก็ได้เห็นเช่นกันว่า ในช่วงของคุณอภิสิทธิ์ จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ปรับลดลงในอัตราสูงที่สุดด้วยเช่นเดียวกันในปี 2554 และหลังจากนั้นจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ของไทยก็ลดลงโดยตลอด โดยมาตํ่าที่สุดในปี 2558 สมัยนายกฯประยุทธ์ แต่ก็กลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2560 ในสมัยของคุณประยุทธ์ด้วยเช่นกัน
โดยปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของครอบครัวคนไทยมีหนี้ โดยเฉลี่ยคนไทยมีหนี้ประมาณครอบครัวละ 178,994 บาท หนี้ประมาณ 36% หรือเกินกว่า 1 ใน 3 นิดหน่อยของยอดหนี้รวมถูกใช้ไปเพื่อการซื้อบ้าน ที่ดิน คอนโดฯ เพื่อให้ครอบครัวมีที่อยู่อาศัย และอีกประมาณ 40% ของยอดหนี้รวมถูกใช้ไปเพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จะเห็นได้ว่า นี่คือ ปัญหาหลักที่แท้จริงของคนไทย เรามีหนี้ เราก่อหนี้ เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นั่นหมายความว่า เรายังไม่มีหลักประกันในเรื่องของการครองชีพอย่างเพียงพอ
ดังนั้น ถ้าพรรคไหนสามารถนำเสนอนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม มีที่มาที่ไปของงบประมาณอย่างชัดเจน มีกระบวนการบริหารจัดการให้นโยบายเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม แก้หนี้อย่างยั่งยืน น่าจะเป็นสิ่งที่คนไทยต้องการมากที่สุด ณ เวลานี้
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เรารู้เท่าทัน นักหาเสียง และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการออกไปลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3448 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2562