เรื่อง : ร.10 พระราชทาน “ตราสัญลักษณ์” พระราชพิธีบรมราชาภิเษก – มติ ครม. อนุมัติรถไฟสายสีแดงอ่อน “ศิริราช-ตลิ่งชัน” 6,645 ล้าน

      ผู้ส่งข่าว : จปร.FM 89.75 MHz.

      ประชาสัมพันธ์ เมื่อ : 20190306 เวลา : 7:44:55      มีผู้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์นี้แล้ว   696   ครั้ง




      รายละเอียด :

ร.10 พระราชทาน “ตราสัญลักษณ์” พระราชพิธีบรมราชาภิเษก – มติ ครม. อนุมัติรถไฟสายสีแดงอ่อน “ศิริราช-ตลิ่งชัน” 6,645 ล้าน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.

ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

           เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พ.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
ร.10 พระราชทาน “ตราสัญลักษณ์” พระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ

              พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาปรุงแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 และพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์พร้อมความหมายด้วยแล้ว ในกรณีที่หน่วยงานใดมีความประสงค์ขออัญเชิญตราสัญลักษณ์ไปประดิษฐานหรือประดับลงในสิ่งของใดๆ ก็ตาม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ให้แจ้งขออนุญาตไปที่คณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

             ประการต่อมาเป็นเรื่องแบบเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และการเชิญชวนแต่งกายด้วยเสื้อเหลือง โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแบบเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ ด้านหน้าเป็นแบบตราสัญลักษณ์ ส่วนด้านหลังมีคำว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562”

             ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดทำเข็มที่ระลึกเพื่อจำหน่ายราคาเข็มละ 300 บาท โดยนำเงินรายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย คาดว่าเริ่มจำหน่ายในเดือนเมษายน เพื่อให้ประชาชนได้อัญเชิญไปประดับในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

          “ขอเชิญชวนแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2562 ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำเสื้อโปโลสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์เพื่อจำหน่ายด้วยเช่นกัน ”

             นอกจากนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องราชสักการะ ซึ่งพระฉายาลักษณ์ได้พระราชทานแล้วมี 3 แบบ และขอเชิญชวนประดับตราสัญลักษณ์พร้อมธงชาติ และธงตราสัญลักษณ์ ตามอาคารสถานที่และบ้านเรือนเพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยพร้อมเพรียงกัน
ปราศรัยช่วย พปชร. ลำบาก – ต้องระวังทำผิดกฎหมาย

            พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ในเรื่องคำถามถึงสถานะของตนนั้น ตนคงไม่ต้องตอบ เพราะตนก็เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

           ต่อคำถามที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอแผนปราศรัยหาเสียง พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ยังคงหารือกันอยู่ ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ต้องดูองค์ประกอบในหลายๆ ด้าน

          “หลายคนจ้องตาเป็นมัน ตั้งแท่นรอฟ้อง ผมก็ต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายให้ดีว่าจะทำอะไรได้บาง ผมคิดว่ามีความก้ำกึ่ง ยังไงก็ต้องระวังไว้ก่อน ผมก็ต้องปรับวิธีการและรูปแบบของผมว่าจะทำอย่างไรต่อไปได้บ้าง เพราะวันนี้ผมก็ไปพบประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งก็ทำได้ตามกฎหมายทุกประการ เห็นใจผมเถอะ อย่าเอาเป็นเอาตายกับผมนักเลย”

             พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกระแสคนที่เลือก พล.อ. ประยุทธ์ แต่ไม่เลือกพรรคที่ใส่ชื่อนายกฯ เป็นแคนดิเดต ว่า ตนไม่รู้ว่ามีการทำโพลมาอย่างไร หากเขียนแยกประชาชนก็คงตอบแยก คงต้องไปดูว่าประชาชนต้องการอะไร ซึ่งตนก็ไม่รู้

             “อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วอนาคตควรเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของประชาชนในการตัดสินใจ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

            เมื่อถามว่า การช่วย พปชร. หาเสียง นอกจากข้อกฎหมายที่ต้องระวัง ยังมีหลักเกณฑ์อะไรที่จะพิจารณาว่าจะไปหรือไม่ไป พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูหลายอย่าง มีข้อห่วงใยหลายเรื่องต้องดู เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้นายกฯ ก็ลงพื้นที่พบประชาชนอยู่แล้ว ทำไมยังจะต้องพิจารณาลงไปช่วย พปชร. หาเสียงอีก พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่รู้ ไม่ทราบ คงเป็นเรื่องการเมือง ตนทำหน้าที่ของตน และตนก็มีโอกาสในฐานะที่เป็นนายกฯ ก็พบประชาชนได้ แต่คงไปขึ้นเวทีลำบาก

             อย่างไรก็ตาม กรณีที่ พปชร. มีแผนให้ตนลงพื้นที่ กทม. ช่วยหาเสียงนั้น ยังพิจารณาอยู่ และในเรื่องของทีมรักษาความปลอดภัยระหว่างลงพื้นที่ต่างๆ ยังใช้ได้ เพราะตนเป็นนายกฯ
อุบชื่อ กก.สรรหา ส.ว. – เผยคุณสมบัติใหม่ ผู้สมัครต้องลาออกทุกตำแหน่ง

             พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า วันนี้ทุกคนก็ทราบอยู่แล้วว่า การสรรหา ส.ว. มีกรรมการ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ส.ว. ที่เลือกตั้ง 50 คน ตอนนี้ได้ชื่อมาแล้วทั้งส่วนที่สมัครเป็นอิสระ และจากกลุ่มต่างๆ ส่วนรายชื่อ 200 คนยังอยู่ระหว่างการคัดกรองโดยคณะกรรมการที่ตั้งไปแล้ว ให้เหลือ 50 คน

            “ส.ว. แต่งตั้ง 194+6 อันนี้ก็ชัดเจนไปแล้ว 6 อีก 194 คน จะต้องมีการสรรหามาให้ได้ 400 คน แล้วต่อมาก็จะคัดกรองให้เหลือ 194 คน อันนี้ก็ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก มาจากทุกภาคส่วน เพราะต้องล้อกันมา ทั้งหมดยืนยันว่าไม่มีใครอยู่ในราชการสักคน ส่วนที่ 2 แม้จะเลือกมา 400 คน ผมก็ไม่มีโอกาสจะไปถามเขาได้ทุกคน ซึ่งเขาจะสมัครมาครบ 400 หรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติขึ้นมาใหม่ ดำรงตำแหน่งอะไรอยู่ก็ต้องลาออกหมด กติกาเยอะ ขอให้ติดตามด้วย เดี๋ยวคงมีการแจ้งให้ทราบ”

            พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการสรรหาฯ เป็นกลไกปกติ ซึ่งตนคิดว่า คณะกรรมการที่ตนตั้งไปแล้วจะทำงานด้วยความเที่ยงธรรม เพื่อชาติบ้านเมือง ทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงแข็งแรง ทำให้ระบอบการบริหารราชการประเทศมีความยั่งยืน

             “คนเหล่านี้ที่ถูกตั้งมาก็คงรักประเทศไทยกันทุกคน เราต้องไม่ทำปัญหาเดิมๆ ให้เกิดขึ้นอีก และในช่วงที่ผ่านมาก็เคยมีทั้ง ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง สลับไปมาอยู่ตลอด วันนี้ก็ทดลองแบบนี้ อย่างน้อย 5 ปีก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศ ขณะที่อะไรที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ส.ว. ก็คงไม่มีอำนาจอะไร เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายทั้งสิ้น การบริหารประเทศ มี ครม., ส.ส., ส.ว. วันนี้ก็มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรการปฏิรูป และอีกหลายคณะ เพื่อติดตามการบริหารงานของรัฐบาลในโอกาสต่อๆ ไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

            เมื่อถามว่า ประชาชนอยากเห็นรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. จะสามารถเปิดเผยได้เมื่อไหร่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เอาไว้ดูรายชื่อ ส.ว. ทีเดียวเลย กรรมการก็คือกรรมการ แต่ท้ายที่สุดตนก็ต้องตัดสินใจอยู่แล้ว และตนก็ไม่เลือกข้างใครทั้งสิ้น ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข และมีความมั่นคง ทำงานได้ด้วย ไม่ใช่ขัดแย้งกันตลอดไป ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีวันเลิกราเสียที ตนอยากให้ทุกคนมองอนาคต ว่ามันจะสงบแบบนี้ต่อไปอีกหรือเปล่า ตนเป็นห่วงตรงนี้แค่นั้น
ยันปัญหาสายตาไม่มีผลต่อการตัดสินใจ – ไม่มีท้อ

            พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงปัญหาสายตาที่เพิ่งผ่าตัดมาว่า ยังไม่หายดี ยังคงต้องระมัดระวังและถนอมสายตาอยู่ระยะหนึ่ง พร้อมยืนยันว่า ปัญหาสายตาไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ พร้อมยืนยันว่าสภาพจิตใจตนยังเข้มแข็ง เพราะตนทำงานให้ประชาชนและเพื่ออนาคตของประเทศด้วย

            “ตากับใจมันคนละเรื่อง ผมยังแข็งแรงทุกอย่าง ถ้าดูผลการตรวจของผมแล้วจะตกใจ ว่าผมแข็งแรงทุกประการ ใจก็แข็งแรงไม่มีท้อแท้ แข็งแรง 100% ไม่ว่าใครจะกล่าวโจมตีอะไร จะยึดมั่นความดีที่ได้ทำไว้ ความตั้งใจและความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งการพัฒนาประเทศจะต้องนำทางโดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้องสร้างความต่อเนื่อง ให้มีการพัฒนาเป็นเป็นขั้นตอน โดยคำนึงถึงงบประมาณรายจ่าย และรายได้ของภาครัฐด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

            พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หากทุกคนจำที่ตนเคยพูดได้ทั้งหมด ไม่ได้เอาเฉพาะการเมืองออกมาจะเห็นว่า รัฐบาลนี้ทำไปเยอะมาก แต่อาจไม่ตอบสนองคนทุกคนในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นหาเสียงไปแล้วซึ่งตนไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพราะส่งผลให้การปฏิรูปล้มเหลวเพราะคนไปมองปลายทางกันหมด ว่าจะได้นู่นได้นี่ แต่ได้จริงหรือไม่ตนก็ไม่แน่ใจ แต่ในวันนี้สิ่งที่ทุกคนเห็นกันอยู่แล้วคือสิ่งที่รัฐบาลทำไว้แล้ว และเกิดขึ้นแล้ว นี่คือความแตกต่างที่ตนอยากจะพูด
เตรียมพร้อมรับภัยแล้ง วอนเกษตรกรเน้นปลูกพืชน้ำน้อย – งดทำนาปรัง

             สถานการณ์ภัยแล้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ว่ารัฐบาลได้มีการประชุมและกำชับมาโดยตลอดเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม แต่ปัญหาขณะนี้คือ ปริมาณน้ำต้นทุนที่กักเก็บไว้มีไม่เพียงพอ เช่น บางลำน้ำที่แห้งขอดแล้ว โดยเฉพาะแม่น้ำยมมีปริมาณน้ำที่ลดลง เนื่องจากการทำนาปรังที่เพิ่มมากขึ้น เหตุจากราคาข้าวสูงขึ้น

             “ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค บริโภคต่อไปในอนาคต ขอให้ประชาชนฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานราชการ รัฐบาลพยายามส่งเสริม สนับสนุนแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว วันนี้คาดว่าภัยแล้งจะมาเร็วกว่าทุกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำแผนรับมือกับระดับน้ำของลำน้ำยมไว้โดยการสร้างประตูน้ำ ซึ่งไม่ใช่การสร้างเขื่อน แต่เป็นการหาทางเก็บกักน้ำให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้”

               พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยกันลดค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเยียวยาเรื่องภัยแล้ง เพื่อนำงบประมาณไปใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทางอื่นที่จะส่งผลในระยะยาวให้แทน ซึ่งใน 4-5 ปีที่ผ่านมางบประมาณในการช่วยเหลือภัยแล้งลดลงอย่างมากจากหลักหมื่นล้าน เหลือหลักพันล้านเท่านั้น

             “รัฐบาลไม่สนับสนุนให้ทำนาปรังในฤดูนี้ ให้เกษตรกรลองหาคำแนะนำจากเกษตรจังหวัดหรือเกษตรอำเภอดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง วันนี้รัฐบาลมีมาตรการรองรับหลายอย่างแล้ว หากปลูกแล้วก็ต้องมีการประกันภัยพืชผลการเกษตร หรือปรับเปลี่ยนการปลูกพืชไปปลูกพืชอื่นที่มีตลาด ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมพร้อมหาตลาดให้ และต้องแก้ปัญหาเรื่องการลักลอบนำเข้าผลิตผลจากชายแดน ขอเตือนภาคเอกชนที่กักตุนสินค้าที่ลักลอบเข้ามาหากตรวจพบจะต้องถูกลงโทษสถานหนัก” นายกรัฐมนตรีกล่าว
อวยพร “วันนักข่าว” – ขอให้สื่อประสบความสำเร็จ มีจริยธรรม

             พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวอวยพรแก่สื่อมวลชนเนื่องในวันที่ 5 มีนาคมของทุกปีเป็น “นักข่าว” โดยระบุว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ ในนามของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ขออวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและส่วนตัว เป็นองค์กรที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจรรยาบรรณในการเสนอข่าว

             ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติไปสู่ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง สงบสุข ปลอดภัยและยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ และสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ดีให้กับประชาชนทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปชาติบ้านเมืองต่อไป

มติ ครม. มีดังนี้
พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

แจงความคืบหน้ารถไฟไทย – จีน คาดเฟสแรกเริ่ม เม.ย.นี้

            นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบผลผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 24-26 แบ่งเป็น 5 ประเด็นดังนี้
การดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทั้งสองฝ่ายรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการประกวดราคาช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคาของฝ่ายไทย นอกจากนี้ ยังได้หารือประเด็นเรื่องงานเชื่อมประสานระหว่างงานโยธาและระบบภายในสถานีดอนเมืองและสถานีบางซื่อ โดยตกลงที่จะรวมงานเชื่อมประสานไว้ในสัญญางานก่อสร้างและองค์การออกแบบรถไฟของจีนจะส่งข้อกำหนดเฉพาะที่เกี่ยวข้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อประสานกับผู้ออกแบบต่อไป และจะพยายามอย่างสูงสุดในการปรับเกลี่ยค่าใช้จ่ายบางรายการ (หากมี) ระหว่างสัญญา 2.3 และสัญญา 1 ให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นโดยเร็วที่สุด

               ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะใช้ทางวิ่งแบบไม่ใช้หินโรยทางบริเวณสถานี อุโมงค์ต่างๆ และเส้นทางระหว่างสถานีบางซื่อ-ดอนเมือง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 โดยจะหารือความเหมาะสมของงานออกแบบรายละเอียดเกี่ยวกับทางแบบใช้หินโรยทางและไม่ใช้หินโรยทางในเส้นทางดังกล่าว รวมถึงขบวนรถ ภายหลังได้รับบัญชีปริมาณงานแล้ว พร้อมทั้งยืนยันว่าเส้นทางช่วงที่ใช้หินโรยทางจะเปลี่ยนเป็นไม่ใช้หินโรยทาง และฝ่ายไทยรับทราบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ทั้งนี้ ฝ่ายจีนได้ส่งมอบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารข้อเสนอทางเทคนิคและบัญชีปริมาณงานของสัญญา 2.3 เพื่อให้ฝ่ายไทยทบทวนข้อมูลแล้ว ขณะที่ฝ่ายไทยยืนยันการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 885-890/930-935 MHz รองรับระบบ GSM-R เพื่องานปฏิบัติการเดินรถไฟ สุดท้ายทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในหลักการของสัญญา 2.3 และจะใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อแก้ไขประเด็นคงค้างให้ได้โดยเร็ว
การดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคนิคของโครงการฯ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อประเมินราคางานระบบรถไฟ ฝ่ายจีนจะส่งราคาประเมินงานระบบภายใน 1 เดือน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคนิคแล้ว และจะพยายามอย่างสูงสุดเพื่อเริ่มการก่อสร้างภายในปี 2562 โดยฝ่ายไทยจะรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธาของโครงการระยะที่ 2 และจะพิจารณาความเหมาะสมในการที่ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

             การเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นของการเชื่อมโยงทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค พร้อมทั้งเห็นชอบร่วมกันในหลักการเกี่ยวกับสะพานแห่งใหม่ซึ่งจะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 30 เมตร โดยจะมีทั้งทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเสนอให้มีจุดตรวจสำหรับพิธีการด้านศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นๆ พร้อมทั้งสถานีเปลี่ยนถ่ายตั้งอยู่บริเวณชายแดนในฝั่งไทยและลาว ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการจัดทำผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจากได้รับการยืนยันประเด็นดังกล่าวข้างต้นจากฝ่ายไทยและฝ่ายลาวแล้ว สุดท้ายฝ่ายไทยเห็นชอบที่จะหารือกับฝ่ายลาวเกี่ยวกับการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์โดยเร็วที่สุด เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับสถานีเปลี่ยนถ่าย ด่านตรวจคนเข้าเมือง และยืนยันปริมาณผู้โดยสารและสินค้าของเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทน์

              การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายไทยได้เสนอหัวข้อการฝึกอบรม 6 หัวข้อแก่ฝ่ายจีน ซึ่งเน้นเกี่ยวกับครูฝึกหรือผู้สอนในหลักสูตรฝึกอบรม และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในประเทศไทย และฝ่ายไทยจะมอบหมายบุคลากรเพื่อประสานงานกับฝ่ายจีนเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร รูปแบบการเดินรถ และแผนทรัพยากรบุคคลขององค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการว่าภายใต้สัญญา 2.3 ในส่วนของการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะประกอบไปด้วย 4 หัวข้อหลัก คือ การฝึกอบรมการเดินรถและซ่อมบำรุง การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในประเทศไทย ห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการทดสอบและการตรวจสอบและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

             ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญจีนในการให้คำปรึกษา ฝึกอบรม และพัฒนากำลังความสามารถของบุคลากร/องค์กรของไทยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบชิ้นส่วน/ผลิตภัณฑ์ และเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรและจำนวนบุคลากร ประมาณ 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมในประเทศไทย พร้อมเห็นชอบการจัดสรรกรอบวงเงินงบประมาณในการฝึกอบรมจำนวน 920 ล้านบาท และมอบหมายคณะทำงานร่วมเพื่อตัดสินใจในขั้นตอนการออกใบอนุญาตขับรถไฟความเร็วสูง
ความร่วมมือด้านการเงิน ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในร่างสัญญาเงินกู้ รวมถึงข้อตกลง 11.1 ของร่างสัญญาเงินกู้ที่ได้เจรจากันในการประชุมครั้งที่ 24 และทั้งสองฝ่ายได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานด้านการเงินให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของสัญญา 2.3 โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือรายละเอียดและเงื่อนไขเงินกู้ที่ฝ่ายจีนได้เสนอและที่จะเจรจากันต่อไป

             ในด้านรายละเอียดความคืบหน้าของโครงการ การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก 3.5 กิโลเมตร เริ่มการก่อสร้างแล้ว ปัจจุบันมีความคืบหน้าประมาณ ร้อยละ 40, ช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก 11 กิโลเมตร เริ่มประกวดราคาแล้ว, ช่วงที่ 3 (5 สัญญา) 143.85 กิโลเมตร คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอการประกวดราคาและเสนอคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยภายในเดือนเมษายน 2562 และช่วงที่ 4 (7สัญญา) 90.28 กิโลเมตร คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอการประกวดราคาและเสนอคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยภายในเดือนพฤษภาคม 2562

             สำหรับการเจรจาสัญญา 2.3 ระบบรถไฟและการฝึกอบรม ฝ่ายจีนยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ได้หารือกันไว้ เนื่องจากฝ่ายจีนเห็นว่างานในสัญญา 2.3 ระบบรถไฟและการฝึกอบรมมีลักษณะเป็นงานเหมาจ่าย และงานบางส่วนจำเป็นต้องมีการประกวดราคาในประเทศจีนและทำการออกแบบรายละเอียดก่อน จึงจะสามารถส่งข้อมูลดังกล่าวให้ฝ่ายไทยได้ ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจกับฝ่ายจีนถึงความจำเป็นของฝ่ายไทยและเร่งรัดให้ฝ่ายจีนดำเนินการต่อไป

             ขณะที่การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างจัดทำรายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการฯ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยกระทรวงคมนาคม (คค.) จะเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการในเดือนมีนาคม 2562 นอกจากนี้ รฟท. อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาไทยเพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณในเดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ที่เห็นชอบให้ฝ่ายไทยรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียด โครงการฯ ระยะที่ 2

            ในประเด็นการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้คณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้พิจารณาการจัดตั้งองค์กรพิเศษฯ ในรูปแบบ asset corporation (asset co.) โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และให้ รฟท. เข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้น ปัจจุบันสำนักงานบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน คค. อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดร่างขอบเขตงาน (TOR) เพื่อขอรับงบประมาณ และดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งองค์กรพิเศษฯ เพื่อให้มีรายละเอียดครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/การร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ

            สุดท้ายในประเด็นเงื่อนไขเงินกู้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ฝ่ายจีน โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนได้เสนอเงื่อนไขเงินกู้ให้ฝ่ายไทย โดย กค. ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับวงเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 85 ของวงเงินสัญญา 2.3 งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม โดยมีอายุเงินกู้ไม่เกิน 20 ปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ฝ่ายไทยเสนออัตราดอกเบี้ยร้อย 2.6 ต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างฝ่ายจีนพิจารณาตอบรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ 
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

อนุมัติรถไฟสายสีแดงอ่อน “ศิริราช-ตลิ่งชัน” วงเงิน 6,645 ล้าน

           นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ในกรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10.00 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 177.73 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) จำนวน 40.24 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 2,706.56 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จำนวน 1,997.33 ล้านบาท และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 1,713.17 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

               สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางดังกล่าว รัฐบาลจะรับภาระเฉพาะในส่วนค่าโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลรับภาระ ได้แก่ ค่างานโยธาและระบบราง ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,924.53 ล้านบาท ส่วนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 3,710.50 ล้านบาท เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับภาระ สำหรับในส่วนของค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

             อนึ่ง โครงการดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟชานเมืองสายสีแดงทางฝั่งทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีตลิ่งชันไปยังบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเส้นทางรถไฟของช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกที่สถานีศิริราช ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ 2 ทางเลียบไปตามแนวเขตทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร มีสถานีรวม 3 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี-ศิริราช ทั้งนี้ โดยจะเป็นรางขนาด 1 เมตร เดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่จ่ายเหนือหัว (OCS) แรงดันไฟฟ้า AC 25 กิโลโวลต์ รถไฟมีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

            “ในการเสนอ ครม. วันนี้ รฟท. ได้ขออนุมัติการจัดซื้อรถไฟฟ้าสำหรับให้บริการ จำนวน 4 ขบวน หรือ 16 ตู้ด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้มีข้อเสนอว่าหากโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงอื่นๆ ที่จะมีการจัดซื้อรถไฟฟ้ารวม 220 คัน เพื่อให้บริการเดินรถในลักษณะต่อเนื่อง (through operation) ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องจัดซื้อเพิ่มในวงเงินกว่า 1,713 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ ครม. ได้ให้ไปหารือกันเพิ่มเติมอีกครั้ง” นายณัฐพรกล่าว
ตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว 1 ปี

              พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการจัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความสัมพันธ์อันดีด้านแรงงานระหว่างไทย-เมียนมา และประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ตลอดจนผลประโยชน์โดยรวมของนายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว รวมทั้งเป็นการเพิ่มผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

            โดยในระหว่างการเยือนเมียนมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ฝ่ายเมียนมาได้แจ้งความประสงค์เรื่องการย้ายศูนย์ออกหนังสือเดินทางไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งต่อมาฝ่ายเมียนมาได้มีหนังสือเพื่อร้องขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ เนื่องจากทางการเมียนมาสามารถจัดเก็บข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ประสงค์จะขอมีหนังสือเดินทางได้ในเบื้องต้นก่อนที่หน่วยงานที่อำนาจหน้าที่จะพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่แรงงานโดยที่แรงงานยังไม่ต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้แก่แรงงานเมียนมา

“ที่มาของมติดังกล่าวสืบเนื่องจากวาระการจ้างงานสำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตาม MOU จะครบกำหนด 4 ปี ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 140,256 คน โดยหากแรงงานกลุ่มนี้ประสงค์จะทำงานในประเทศไทย จะต้องเดินทางกลับประเทศและเว้นระยะเวลา 30 วันจึงจะสามารถกลับเข้ามาทำงานตาม MOU ได้ใหม่ ซึ่งในระหว่างการเว้นระยะเวลาดังกล่าว จะเป็นช่วงเวลาที่ทางการเมียนมาจะต้องจัดเตรียมเอกสารและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของแรงงาน เพื่อนำไปใช้สำหรับการพิจารณาตรวจสอบการออกหนังสือเดินทาง”

          “ด้วยจำนวนที่มากก็คาดว่าอาจจะดำเนินไม่ทัน และทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานในไทยได้ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้แรงงานเหล่านี้ ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์เพื่อจัดเก็บข้อมูลฯ จะเป็นการอำนวยความสะดวกและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้แก่นายจ้าง/สถานประกอบการ และจะส่งผลให้นายจ้างสามารถจ้างงานแรงงานต่างด้าวโดยถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบริหารราชการของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว” พล.ท. วีรชน กล่าว

           ทั้งนี้ สถานที่ตั้งศูนย์ฯ จะอยู่ที่ ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร (บริเวณตลาดทะเลไทย) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นการดำเนินการเฉพาะกลุ่มแรงงานเมียนมาเท่านั้น ไม่รวมคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ ให้บริการแรงงานใน 2 กลุ่ม ได้แก่
แรงงานเมียนมาที่ต้องการเปลี่ยนเอกสารประจำตัวเป็นหนังสือเดินทาง[แรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติหรือจัดทำทะเบียนประวัติในประเทศไทยที่ถือหนังสือเดินทาง (PP) หนังสือเดินทางชั่วคราว (TP) หรือเอกสารรับรองบุคคล (CI) โดยทางการเมียนมาใช้คำว่า กลุ่มคน Function A
แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานใกล้ครบกำหนด 4 ปีที่ต้องการจัดทำเป็นหนังสือเดินทางฉบับใหม่ และมีความประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานตาม MOU เมื่อวาระการจ้างงานครบ 4 ปี แล้ว โดยทางการเมียนมาใช้คำว่า กลุ่มคน Function B

           สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 13 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ 1 คน จากกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ 12 คน จากกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร ของเมียนมา และมีเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นผู้ประสานงาน มีระยะเวลาดำเนินงานชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี
แก้คุณสมบัติ Smart VISA ดึงแรงงานต่างชาติคุณภาพสูง

              พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม. มีมติ ในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่คนต่างด้าวผู้ถือ Smart Visa และผู้ติดตาม ดังนี้

             ให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นประเภทผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (talent) นักลงทุน (investor) ผู้บริหารระดับสูง (executive) และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ สามารถทำงานซึ่งไม่เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในประเทศไทยได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

            ให้คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ถือ Smart Visa ประเภทผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน หรือผู้บริหารระดับสูง คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ถือ Smart Visa ประเภทผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ถือ Smart Visa ประเภทผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สามารถทำงานในประเทศไทยได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร แต่ต้องไม่เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
อนุญาตดาวเทียมต่างชาติใช้วงโคจรไทย

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (geostationary-satellite orbit: GSO) ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

            โดยร่างแนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ GSO ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อข่ายงานดาวเทียมได้รับการจดทะเบียนไว้ในทะเบียนผู้ใช้คลื่นความถึ่ระหว่างประเทศของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) มีสาระสำคัญ เช่น การรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโครจรดาวเทียม GSO วิธีการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรฯ ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการดาวเทียมของไทย โดยให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงุทนและจะต้องกำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ โดยกำหนดเป็น 2 แนวทาง ดังนี้
สำหรับข่ายงานดาวเทียมที่มีอยู่เดิมทั้งหมด 21 ข่ายงาน ให้นำข่ายงานดาวเทียมที่ไม่มีการใช้งานตามสัญญาสัมปทานหรือการอนุญาตอื่นใดมาจัดชุด (package) ซึ่งอาจประกอบด้วยมากกว่าหนึ่งข่ายงานดาวเทียมตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทั้งในทางเทคนิคและทางธุรกิจ และคัดเลือกผู้ประกอบการไทยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ราชการกำหนด มารับใบอนุญาตเพื่อใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมตามนโยบายข้างต้น

            สำหรับข่ายงานดาวเทียมใหม่ หากมีผู้ประสงค์จะขอใช้สิทธิ สามารถทำได้โดยแจ้งความประสงค์ต่อ ดศ. และเข้าสู่กระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธิต่อไป โดยนำหลักการมาก่อนได้ก่อน (first come, first served) มาใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต  ทั้งนี้ กรณีดาวเทียมสื่อสารต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย

              โดยมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขประกอบการอนุญาต คือ จะส่งเสริมการลงทุนของคนไทยเป็นอันดับแรก ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับดูแลของไทยทุกประการ (exclusive jurisdiction) และต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data privacy protection) รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) หรือกฎระเบียบอื่นใดที่เหมาะสมและจำเป็นด้วย สถานนีวบคุมคดาวเทียมต้องตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณประโยชน์ของรัฐ รับผิดชอบแทนภาครัฐ (state object) ในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายตาม UN treaties และจัดทำประกันภัย all risks เป็นต้น

           ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การให้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐ ดังนั้น ให้ ดศ. เป็นหน่วยงานที่เสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปจนกว่าร่างพระราชบัญญัติฯ จะมีผลใช้บังคับ และเมื่อร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ให้ กสทช. ดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

            สำหรับนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ เป็นการอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์โดยผู้ประกอบการไทย ซึ่งนโยบายนี้ใช้กับดาวเทียมสื่อสารที่อย่างน้อยต้องรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายไทย

            เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้งานข่ายงานดาวเทียม แต่ยังขาดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเพียงการอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทใดประเภทหนึ่งใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเป็นการชั่วคราว (ad hoc) เช่น ภารกิจของพระราชวงศ์ ภารกิจเกี่ยวกับภัยภิบัติแห่งชาติ ภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร ภารกิจเกี่ยวกับสาธารณสุขและการศึกษา ภารกิจถ่ายทอดกิจกรรมสำคัญของชาติหรือระหว่างประเทศ ภารกิจเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ภารกิจซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนกับรัฐบาล, ภารกิจซึ่งเป็นการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสาธารณะ และสังคมที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องกำหนดเงื่อนไขที่แน่นอนอย่างน้อย ได้แก่ ระยะเวลา เริ่มต้นและสิ้นสุด พื้นที่การบริการ และบริการหรือเนื้อหาที่ใช้ช่องสัญญาณนั้น รวมถึงเสียค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

            ซึ่งเงื่อนไขของการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ เช่น ให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมต่างชาติต้องขออนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน กสทช. ประกาศกำหนดและจะต้องจัดตั้งนิติบุคคลและมีสถานประกอบการในประเทศไทย (local presence) (mode3: commercial presence ภายใต้ความตกลง GATS) โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต้องมีหุ้นของคนไทยตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว (nominee)

             รวมทั้งจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับดูแลของไทยทุกประการ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data privacy protection) รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) หรือกฎระเบียบอื่นใด ด้านความมั่นคงของประเทศโดยไม่ขัดกับกฎหมายที่มีอยู่เดิม หรือกฎหมายอื่นๆ ที่จะตราขึ้นในอนาคต

             ในแง่การกำกับดูแลเนื้อหา ประเทศไทยมีสิทธิกำกับดูแลเรื่องสื่อและเนื้อหา (reversed rule of origin), ผู้รับใบอนุญาตต้องระงับการเผยแพร่เนื้อหาเมื่อได้รับแจ้งว่าเนื้อหาขัดกับกฎหมาย (notice and take down), ดาวเทียมต่างชาติต้องเคารพและปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องในการกำหนดความรับผิดของตัวกลาง (intermediary liability) และสุดท้ายจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการให้สิทธิดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศไทย (landing rights fee) ในอัตราที่ไม่ด้อยไปกว่าค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย รวมถึงค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามกฎหมาย ทั้งนี้ จะได้มีการกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อรองรับต่อไป
ตั้งงบฯ 1,300 ล้าน สานโครงการ “ร้อยใจรักษ์” แก้ปัญหายาเสพติด

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการโครงการร้อยใจรักษ์ พ.ศ. 2562-2580 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ 

         ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคง การรักษาความสงบภายในประเทศ และแผนระดับ 2 แผนความมั่นคง ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2580 สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด จำนวน 24,360,511 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไป เห็นควรให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในลักษณะบูรณาการด้านการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

            ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการโครงการร้อยใจรักษ์ฯ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1. ระยะเริ่มต้น ปีงบประมาณ 2561-2562 2. ระยะดำเนินงาน โดยมีลำดับการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะอยู่รอด ปีงบประมาณ 2563-2566 ระยะที่ 2 ระยะพอเพียง ปีงบประมาณ 2567-2570 ระยะที่ 3 ระยะยั่งยืน ปีงบประมาณ 2571-2572 3. ระยะรักษาสภาพความยั่งยืน ปีงบประมาณ 2573-2580 โดยมีงบประมาณในการดำเนินการ รวมจำนวน 1,300,784,811 บาท

            “แผนงานดังกล่าว เป็นแผนบริหารจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ มีหลักการในการปฏิบัติงานโดยใช้การพัฒนาทางเลือกตามศาสตร์ของพระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอาชีพของประชาชนในพื้นที่โครงการ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำการพัฒนาอาชีพทางการเกษตร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เป็นรายได้สุจริตและมั่นคงของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เช่นการพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นต้น”

               โดยมีหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการ เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กองทัพบก จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีเป้าหมายดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม ครอบคลุม 4 หมู่บ้านหลัก ได้แก่ บ้านเมืองงามเหนือ บ้านห้วยส้าน บ้านหัวเมืองงาม บ้านเมืองงามใต้ และ 20 หมู่บ้านย่อยในตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

              ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ตามแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ. 2562-2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 และแผนปฏิบัติการโครงการรัอยใจรักษ์ฯ ที่เสนอในครั้งนี้เป็นการนำรูปแบบการพัฒนาตามแนวทางศาสตร์ของพระราชามาขยายผลดำเนินการด้านการพัฒนาทางเลือกในพื้นที่เป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จฯ โดยใช้พื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์เป็นพื้นที่ศึกษา เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ จึงเป็นการต่อยอดและขยายผลการพัฒนาระหว่างกัน
จัดงบกลาง 470 ล้าน จ่ายชดเชยเรือประมง 252 ลำ

              พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติ เห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) การชดเชยเยียวยาเจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ปี 2558 เพื่อเป็นเงินค่าชดเชยเรือประมง จำนวน 305 ลำ กรอบวงเงิน 764.454 ล้านบาท โดยในปี 2562 ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าชดเชยเรือประมง จำนวน 252 ลำ ในวงเงิน 469.604 ล้านบาท สำหรับค่าชดเชยเรือประมงส่วนที่เหลือ 53 ลำ จะเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต่อไป

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยดังกล่าว มีดังนี้
  • 1) เป็นเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและมาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ทั้งนี้ ต้องเป็นเรือและเจ้าของเรือที่ไม่เคยกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายเจ้าท่า และกฎหมายแรงงานมาก่อน
  • 2) เป็นเรือประมงตามบัญชีรายชื่อที่ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานตรวจสอบฯ
  • 3) เป็นเรือประมงตามบัญชีรายชื่อที่ผ่านการประเมินราคาสภาพความเป็นจริงรายลำจากคณะทำงานประเมินราคาตามสภาพเรือประมง
  • 4) เป็นเรือประมงที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพร้อมราคาชดเชยซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ)
  • 5) ในกรณีที่มีการตรวจพบในภายหลังว่าผู้ที่จะได้รับการเยียวยา มีคุณสมบัติต่างๆ ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ข้อ (1)-(4) ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยของเรือลำนั้นๆ
ผ่อนผัน SCG ทำเหมืองหินปูน “ป่าทับกวาง – มวกเหล็ก” ถึงปี 2579

               รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ครม. มีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เป็นการเฉพาะรายต่อไปได้จนสิ้นอายุประทานบัตร ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ

               อนึ่ง พื้นที่จำนวน 15 แปลงดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา (พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง มีเนื้อที่รวม 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2554 แต่อายุประทานบัตรเหมืองแร่ยังคงเหลืออยู่ถึงวันที่ 27 เมษายน 2579

 

 

 


มีผู้อ่านข่าวแล้วจำนวน       ราย